เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
เรื่อง การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เรื่อง การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม ตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ครั้งที่ 4/2554 วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะบังคับบัญชาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ปปง. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism : AML/CFT) ซึ่งเป็นการประเมินการปฏิบัติตามข้อแนะนำ 40+9 ของ FATF โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2550 นั้น FATF ได้ออกประกาศ FATF Public Statement ซึ่งได้จัดให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการกำกับดูแลด้าน AML/CFT ที่เข้มข้น ซึ่งหมายรวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมอันทำให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมมีความเสี่ยงในการฟอกเงินโดยอาชญากร จึงอาจส่งผลเสียหายแก่การทำธุรกิจและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
2. จากผลการประเมินตามข้อ 1 คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงออกมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เรื่อง การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานสากล ด้าน AML/CFT เพื่อใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม ไม่น้อยกว่า 60,000 แห่ง และจำนวนรายงานการทำธุรกรรมตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2543 — 30 กันยายน 2554 จำนวนทั้งสิ้น 12,162,190 รายงานธุรกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวด้วยแล้ว โดยมาตรการดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 การดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงาน
การทำธุรกรรม
2.1.1 ประสานงานระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลหลักสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม สมาคม ชมรม
หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและในการสนับสนุนในการดำเนิน
การด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2.1.2 ศึกษา จัดทำหรือปรับปรุงนโยบาย มาตรการคู่มือ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มี
หน้าที่รายงานการทำธุรกรรม เพื่อการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับ
สนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2.1.3 จัดทำแนวทาง สิ่งพิมพ์เผยแพร่ การฝึกอบรมเผยแพร่ ให้ความรู้ ความเข้าใจกับสถาบันการเงิน และผู้มีหน้าที่รายงาน
การทำธุรกรรมในการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และแนวทางด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อ
ต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2.1.4 รับ ประมวลผล และตอบกลับรายงานการทำธุรกรรม และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงาน.
การทำธุรกรรม
2.1.5 รับ หรือส่งรายงาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับหน่วยงานกำกับหลักหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนิน
การด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2.1.6 ดำเนินการประเมินความเสี่ยงกลุ่มสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม โดยวิเคราะห์จากปัจจัยความ
เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งฟอกเงินและปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มข้นในการกำกับดูแลในด้านโครงสร้าง ระบบงานและวิธี
ปฏิบัติงานในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
เพื่อพิจารณาจัดลำดับ และวิธีการตรวจสอบสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
2.1.7 ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมโดยวิธีการตรวจสอบจาก
เอกสาร รายงาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และหรือการตรวจสอบ ณ สถานที่ทำการของสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่
รายงานการทำธุรกรรม เพื่อประเมินผลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน
2.1.8 พิจารณาผลการตรวจสอบเพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของ
สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม และบังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินและผู้มี
หน้าที่รายงานการทำธุรกรรมโดยหลักนิติธรรม
2.1.9 ดำเนินการติดตาม แก้ไข ปรับปรุงตามแผนงานของสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมตามข้อสังเกต
จากการตรวจสอบและประเมินผล และนำผลการประเมินมาวิเคราะห์และทบทวนระดับความเสี่ยงโดยรวมของแต่ละ
กลุ่มสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมเพื่อประกอบการประเมินในรอบถัดไป
2.2 แนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
2.2.1 การกำหนดคณะผู้ตรวจสอบ และคณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบและประเมินผล
2.2.2 กำหนดการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นสำหรับสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมทุกประเภท
โดยกำหนดความเสี่ยงตามปัจจัยความเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งฟอกเงิน และปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มข้นในการกำกับดูแล
ทั้งในด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของสถาบันการเงินและผู้มี
หน้าที่รายงานการทำธุรกรรม เพื่อใช้เป็นหลักในการเลือกตรวจสอบและประเมินครั้งแรก
2.2.3 การกำหนดการติดตามข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการตรวจสอบ โดยคำนึงถึงสาระสำคัญของแนวปฏิบัติด้านการป้องกัน
และปราบปรามการฟอกเงินเป็นหลัก
2.2.4 การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกใช้วิธีการตรวจสอบและประเมินผล ขั้นตอนในการตรวจสอบตามวิธีต่าง ๆ ที่กำหนด
(1) การตรวจสอบจากเอกสาร รายงาน และข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
แหล่งข้อมูลที่เหมาะสม (Off-site Examination)
(2) การตรวจสอบโดยเข้าตรวจและสัมภาษณ์ ณ ที่ทำการสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
ประกอบการขอข้อมูลของสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมที่เหมาะสม
(On-site Examination)
2.2.5 การกำหนดรอบระยะเวลาในการตรวจสอบและประเมินผลสำหรับสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
เพื่อความต่อเนื่องในการกำกับดูแล
2.2.6 การกำหนดกระบวนการหลังการตรวจสอบและกระบวนการหลังแจ้งผลการประเมิน
(1) การรวบรวมข้อมูลและสอบถามเพิ่มเติม
(2) คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบและประเมิน เพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
(3) แจ้งผลการตรวจสอบและการประเมินที่ผ่านการอนุมัติให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม
เป็นลายลักษณ์อักษร
(4) การกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมจัดทำแผนงานเฉพาะกรณีปรับปรุง แก้ไข
ให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยกเว้นกรมที่ดิน
(5) การให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในกรณีที่ได้ส่งแผนงาน
มายังคณะผู้ตรวจ
(6) การดำเนินคดีอาญา หากสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมมีการปฏิบัติงานที่อาจเสี่ยงต่อการ
ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเป็นสาระสำคัญ ยกเว้นกรมที่ดิน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤษภาคม 2555--จบ--