รายงานความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 30, 2012 13:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า เนื่องจากปัญหาอุทกภัยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนทั่วไป ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือน ทรัพย์สิน และเครื่องมือประกอบอาชีพ จึงเห็นควรแจ้งให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ประมาณการผลกระทบต่อสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน

1.1. ผลกระทบต่อสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รวบรวมความเสียหายจากอุทกภัยที่มีผลต่อสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล ณ เดือนมกราคม 2555 พบว่าสินเชื่อภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและได้รับความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 20,256 บัญชี คิดเป็น 461,202 ล้านบาท สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 903,889 บัญชี คิดเป็น 165,048 ล้านบาท รวมสินเชื่อทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบและได้รับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 934,145 บัญชี คิดเป็น 626,250 ล้านบาท

1.2 ผลกระทบต่อสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 8 แห่ง ได้ประเมินความเสียหายจากอุทกภัยที่มีผลต่อสินเชื่อของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและขอรับความช่วยเหลือด้านการพักชำระหนี้ และ/หรือ ลดดอกเบี้ยแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

     สถาบันการเงินเฉพาะกิจ                              ราย    วงเงินสินเชื่อ(ล้านบาท)
1. ธนาคารออมสิน (ลูกค้าที่ได้รับการพัก
ชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจาก                    15,930        11,241
อุทกภัย)
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ลูกค้าที่ได้รับการพัก                260,419        49,820
ชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจาก
อุทกภัย)
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
(ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้/ลดอัตรา                     119,713        70,453
ดอกเบี้ย อันเนื่องมาจากอุทกภัย)                          (บัญชี)
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและ                    11,337        30,192
ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
(ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้/ลดอัตรา
ดอกเบี้ย อันเนื่องมาจากอุทกภัย)
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
(ลูกค้าเดิมที่ได้รับการพักชำระหนี้/ลดอัตรา                      678         34.91
กำไรหรือลดชำระเงินต้นอันเนื่องมาจาก
อุทกภัย)
6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่ง
ประเทศไทย (ธสน.) (ลูกค้าที่ได้รับการพัก                      83         6,495
ชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจาก
อุทกภัย)
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาด
ย่อม (บสย.) (ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้/                     51         822.7
ลดอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากอุทกภัย)
8. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
(บตท.) (ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้/ลด                       98        163.51
อัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากอุทกภัย)

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามมติ คณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 และวันที่ 25 ตุลาคม 2554 รวม 9 โครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 277,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 มีการอนุมัติแล้ว 71,102 ราย วงเงิน 22,589.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.16 ของวงเงินสินเชื่อรวม และเบิกจ่ายแล้ว 71,049 ราย วงเงิน 22,564.66 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.15 ของวงเงินสินเชื่อรวม ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว 2,498,578 ราย วงเงิน 12,492.89 ล้านบาท

3. สาเหตุที่ผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยยังอยู่ในระดับต่ำ

กค. ได้ประสานกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปสาเหตุที่ผลการอนุมัติสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำ ดังนี้

3.1 สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้วหลายมาตรการ เช่น การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สินเชื่อทั้งการขยายระยะเวลา ลดยอดผ่อนชำระรายเดือน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งลูกค้านำรายจ่ายที่ลดลงดังกล่าวรวมถึงนำเงินที่เก็บออมไว้มาใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมความเสียหายเล็กน้อยตามความจำเป็นเท่านั้น

3.2 รัฐบาลมีมาตรการให้เงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประสบอุทกภัยไปส่วนหนึ่งแล้ว

3.3 ธปท. มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงินรวม 300,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสินโดย ธปท. จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ซึ่งเป็นการสมทบเงินระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 70 : 30 เป็นระยะเวลา 5 ปี และให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมกับลูกค้าไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ในขณะที่โครงการ Soft loan โดยธนาคารออมสินนั้น ธนาคารออมสินจะนำเงินไปฝากที่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ในอัตราร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสถาบันการเงินจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมกับลูกค้าไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จึงทำให้สถาบันการเงินให้ความสนใจมาตรการของ ธปท. มากกว่าโครงการของธนาคารออมสิน

3.4 ผู้ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่ต้องการดูความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลก่อน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ