โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 30, 2012 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบให้ วท. ดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ 2 ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2565) โดยมีเป้าหมายรวม 174 ห้องเรียน เพื่อสนับสนุนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 5,220 คน กรอบวงเงินงบประมาณของโครงการ วมว. ตลอดโครงการเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,227 ล้านบาท

2. เห็นชอบองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับนโยบายและระดับบริหาร ดังนี้

(1) คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบทิศทางการดำเนินโครงการในภาพรวม และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย

(2) คณะกรรมการบริหารโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักการ แนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ ให้คำแนะนำ ส่งเสริมและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการในภาพรวม

(3) เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ ตามข้อเสนอโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยระยะที่ 2 ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. รายงานว่า

1. โครงการ วมว. (ระยะที่ 2) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2551 - 2555) และเห็นชอบให้ขยายเพิ่มจำนวนห้องเรียนวิทยาศาสตร์อีก 20 ห้องเรียน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 โดยให้นำผลการประเมินโครงการเมื่อสิ้นปีที่ 3 มาปรับปรุงการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะสิ้นสุดการดำเนินงานโครงการระยะแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โดยผลการประเมินโครงการสรุปว่าสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อพัฒนาฐานกำลังคนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถทำการวิจัย ผลิตนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านนี้ต่อไป และการเพิ่มโรงเรียนในโครงการให้กระจายตามต่างจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น จะเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความถนัดและมีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ศึกษาในด้านนี้ และเป็นโครงการที่จะรองรับการขยายเพิ่มห้องเรียนวิทยาศาสตร์สำหรับมหาวิทยาลัย/โรงเรียนใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงการบริหารจัดการเป็น 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับบริหาร และระดับดำเนินการ โดยกำหนดจำนวนคณะกรรมการใหม่ที่มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ในแต่ละระดับให้เหมาะสม ซึ่งมีรายละเอียดโครงการฯ ดังนี้

1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ

(1) สนับสนุนการขยายฐานกำลังคนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียน

(2) สนับสนุนการจัดหลักสูตรและการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และขยายฐานการศึกษาในลักษณะดังกล่าวออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาค

(3) เพิ่มจำนวนเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1.2 เป้าหมายของโครงการ

นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นฐานนักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นจำนวน 5,220 คน ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 - 2565)

1.3 การบริหารจัดการแบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

1) ระดับนโยบายกำหนดให้มี “คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโครงการ” เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการดำเนินโครงการในภาพรวม และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย

2) ระดับบริหารกำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารโครงการ” เพื่อกำหนดหลักการ แนวทาง หลักเกณฑ์การบริหารจัดการ ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการในภาพรวม

3) ระดับดำเนินการกำหนดให้มี “คณะกรรมการดำเนินการ” เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการระดับคู่มหาวิทยาลัย-โรงเรียนแต่ละแห่ง ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการ วมว. ระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการที่มีเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ รูปแบบ วิธีการและการบริหารจัดการเช่นเดียวกับโครงการ วมว. ระยะที่ 1 ทุกประการแต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนคู่มหาวิทยาลัย-โรงเรียนให้ครบ 24 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้ทั่วถึงและเพิ่มการสนับสนุนจำนวนนักเรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้ได้สร้างเส้นทางการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและเตรียมสร้างเส้นทางอาชีพวิจัยโดยเชื่อมโยงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคด้วย มีการสนับสนุนงบประมาณหลักสูตรการศึกษาและการจัดทำห้องเรียนวิทยาศาสตร์ตลอดระยะเวลาการศึกษา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ