คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่า
1. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (19) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 386) พ.ศ. 2544 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ “กิจการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน”
2. ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และเปลี่ยนแปลงภารกิจงานโดยจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ” ขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โดยบทบัญญัติตามมาตรา 49 และมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิภาระผูกพันทั้งปวง เงินและรายได้ของกิจการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชนให้เป็นของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ดังนั้น กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของโรงเรียนเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาข้อ 1
3. เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนประเภทในระบบให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ อีกทั้งการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินและงบประมาณของประเทศ แต่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเพียงเล็กน้อย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มิถุนายน 2555--จบ--