ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 10:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

พณ. เสนอว่า

1. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 86 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบกับสหรัฐอเมริกาได้จัดไทยไว้ในบัญชี PWL (ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ) อันเนื่องจากปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทย ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐอเมริกาใช้เป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ”

2. เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรจัดให้มีร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมกรนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. กำหนดคำนิยามคำว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” “คณะกรรมการ” และ “กรรมการ” (ร่างข้อ 3)

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “คทป.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยภาคราชการจำนวน 18 คน ภาคเอกชนจำนวน 5 คน โดยมี อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างข้อ 4)

3. ให้คณะกรรมการตามข้อ 2 มีอำนาจหน้าที่ เช่น

3.1 กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา และด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ รวมถึง สั่งการ ตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม

3.2 ติดตามการดำเนินการของส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ

3.3 กำหนดแนวทางและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพบุคลากร งบประมาณ อำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

3.4 รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง(ร่างข้อ 8)

4. ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการตามข้อ 2 มีอำนาจหน้าที่ เช่น รับผิดชอบในงานวิชาการและงานเลขานุการของคณะกรรมการ ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานตามระเบียบนี้ต่อคณะกรรมการ (ร่างข้อ 9)

5. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ รวมทั้งแผนปฏิบัติการและมาตรการต่าง ๆ (ร่างข้อ 11)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ