คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมทบเงินให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ตามโครงการ bilateral borrowing เป็นจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ธปท. ได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติการสมทบเงินให้ IMF ตามโครงการ bilateral borrowing สรุปได้ดังนี้
1.1 ข้อเสนอของ IMF
1.1.1 IMF มีแหล่งเงินทุนหลักสำหรับให้กู้แก่ประเทศสมาชิกจากเงินโควตาของประเทศสมาชิกทั้งหมดและเงินกู้พหุภาคีตามความตกลง New Arrangements to Borrow (NAB) จากประเทศสมาชิกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเข้มแข็ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันแหล่งเงินทุนทั้งสองสามารถรองรับการปล่อยเงินกู้เพิ่มเติมได้ประมาณ 247 พันล้าน SDR (Special Drawing Rights)
1.1.2 IMF เสนอโครงการ bilateral borrowing เพื่อกู้ยืนเงินจากสมาชิกเป็นการชั่วคราวตามความสมัครใจ ในวงเงินรวมประมาณ 400-450 พันล้าน SDR อายุความตกลงไม่เกิน 4 ปี
1.1.3 เงินสมทบตามโครงการดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็น second line of defense โดยจะมีการเบิกใช้ก็ต่อเมื่อทรัพยากรหลักของ IMF ลดลงจนไม่เพียงพอสำหรับให้เงินกู้แก่สมาชิกและเงินที่ประเทศสมาชิกสมทบให้แก่ IMF ยังคงนับเป็นเงินสำรองทางการได้เช่นเดียวกับการจ่ายโควตาและสมทบเงินตามความตกลง NAB
2. สาระสำคัญของ bilateral borrowing
2.1 รูปแบบการกู้ยืม : ประเทศสมาชิกสามารถเลือกทำความตกลงกับ IMF เป็น bilateral loan หรือ note purchase agreement และได้ผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยตลาดของเงินสกุล SDR
2.2 อายุของความตกลงกู้ยืม : กำหนดอายุของความตกลง 2 ปี โดยในกรณีจำเป็นอาจขอต่ออายุได้อีกครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง (รวมอายุความตกลงไม่เกิน 4 ปี)
2.3 ระยะเวลาการใช้คืน : ระยะเวลาใช้คืนเงินสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ในกรณีจำเป็นอาจขออนุมัติขยายระยะเวลาใช้คืนเพิ่มอีก 5 ปี
2.4 การเรียกใช้เงินกู้ควบคู่กับแหล่งเงินทุนอื่นๆ ของ IMF : เงินกู้ตามโครงการ bilateral borrowing นี้ถือเป็น second line of defense ที่ IMF จะเรียกใช้เงินสมทบตามความตกลงนี้ก็ต่อเมื่อแหล่งเงินทุนจากโควต้า และ NAB เหลือน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2.5 การขอเบิกใช้วงเงิน : IMF จะทยอยขอใช้วงเงินตามความจำเป็น โดยแจ้งแผนการเรียกใช้วงเงินล่วงหน้าเป็นรายไตรมาส
2.6 การเรียกเงินคืน : ผู้สมทบเงินกู้สามารถเรียกเงินคืนได้ทันที โดยเรียกคืนได้รายละไม่เกิน 15 พันล้าน SDR และเงินสมทบแก่ IMF สามารถนับเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--