รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 11:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

2. เห็นชอบข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. กค. มีนโยบายให้กรมบัญชีกลางจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีข้อมูลทางการเงินการบัญชีในภาพรวมของประเทศ เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน

2. กรมบัญชีกลางจึงได้รวบรวมรายงานการเงินของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวม 8,082 หน่วยงาน จาก 8,392 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 96.31 เพื่อจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยรวบรวมข้อมูลรายงานการเงินสิ้นสุดถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวประกอบด้วย รายงานการเงินรวมภาครัฐและรายงานการเงินตามกลุ่มหน่วยงาน ผลการวิเคราะห์รายงานการเงินรวมภาครัฐและตามกลุ่มหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานที่ไม่รวมอยู่ในรายงานการเงินและหน่วยงานที่รวมอยู่ในรายงานการเงิน

3. ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้การจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ มีความครบถ้วนสมบูรณ์น่าเชื่อถือ สามารถใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเงินการคลังได้อย่างถูกต้องเห็นควรเสนอแนะในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

(1) ให้หน่วยงานทุกกลุ่มจัดทำบัญชีและรายงานการเงินให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และส่งสำเนารายงานการเงินที่ส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้กรมบัญชีกลาง โดยเฉพาะในส่วนของรายงานการเงินของ อปท. ให้ส่งสำนักงานคลังจังหวัดรวบรวมส่งกรมบัญชีกลางต่อไป ยกเว้นหน่วยงานในกลุ่มของรัฐวิสาหกิจยังคงส่งข้อมูลรายงานการเงินให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจตามเดิม

(2) ให้ผู้บริหารให้ความสำคัญงานบัญชีมากยิ่งขึ้น และให้กำกับดูแลให้ผู้ตรวจสอบภายในวางแผนการตรวจสอบด้านการเงินและบัญชี พร้อมทั้งรายงานผลให้ผู้บริหารทราบอย่างสม่ำเสมอเพื่อรายงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ กรณีมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานเพื่อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องทันเหตุการณ์ต่อไป

(3) ให้ผู้บริหารระดับกรม/กระทรวง พิจารณาให้ความสำคัญในเรื่องอัตรากำลังและคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานการเงินและบัญชีของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งจำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาด้านบัญชี และจะต้องมีการสอนงานการเงินและบัญชีให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายสามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องเป็นปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีที่จัดทำบัญชีและรายงานการเงินถูกต้อง ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน

(4) ผู้บริหารควรกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บและนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน/รายได้ของหน่วยงาน/เงินนอกงบประมาณต่าง ๆ ให้มีการควบคุมดูแลการรับเงินและการออกใบเสร็จรับเงิน รวมถึงการบันทึกรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

(5) ผู้บริหารควรกำชับหน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่การเงินของหน่วยงานให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วน และปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ โดยให้มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและการบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง ครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ

(6) ผู้บริหารควรกำชับให้หน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีตรวจสอบและบันทึกรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งให้มีการจัดทำงบกระทบยอดเงินฝากธนาคารประจำเดือน เพื่อให้สามารถตรวจพบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นและปรับปรุงแก้ไขรายการบัญชีดังกล่าวให้ถูกต้องก่อนจัดทำรายงานการเงินประจำเดือน/ประจำปี

(7) ผู้บริหารควรกำชับให้หน่วยงานในสังกัดควบคุมดูแล และตรวจสอบบัญชีวัสดุและสินทรัพย์ถาวรของหน่วยงานให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงและตรงกับทะเบียนคุมวัสดุ ทะเบียนคุมทรัพย์สิน หากพบข้อผิดพลาดให้รายงานผู้บริหารและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็วต่อไป

(8) จากผลการวิเคราะห์รายงานการเงินของหน่วยงานแต่ละกลุ่มมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

(8.1) กลุ่มรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ จากการวิเคราะห์พบว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3,368,157.91 ล้านบาท รัฐบาลจึงควรบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้การใช้สินทรัพย์ของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น นอกจากนั้น จากการตรวจสอบรายงานของผู้สอบบัญชี (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) พบว่า กรมธนารักษ์บันทึกที่ดินราชพัสดุจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้แสดงมูลค่าตามราคาประเมินปัจจุบันให้ครบถ้วนหลังจากดำเนินการตามโครงการจัดทำทะเบียนที่ราชพัสดุรูปแบบใหม่ ที่ดินบางส่วนที่ไม่มีราคาทุนยังไม่มีการประเมินราคา จึงยังไม่ทราบมูลค่าที่ถูกต้องของที่ราชพัสดุทั้งหมด ดังนั้น จึงเห็นควรให้กรมธนารักษ์บันทึกที่ดินราชพัสดุให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

(8.2) กลุ่มกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จากการวิเคราะห์พบว่า กองทุนและเงินทุนหมุนเวียนมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ สูงกว่าหน่วยงานทุกกลุ่ม เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนมีการใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกับส่วนราชการในการดำเนินงานด้วย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวแฝงอยู่ในกลุ่มของส่วนราชการ ดังนั้น การพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนแก่กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จึงควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วย หรืออาจพิจารณาให้เงินทุนหมุนเวียนที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายนำเงินส่งคลังเช่นเดียวกับกลุ่มรัฐวิสาหกิจ

(8.3) กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการวิเคราะห์พบว่า อปท. มีเงินสดและเงินฝากธนาคารเก็บไว้เป็นจำนวนมากถึง 271,272.61 ล้านบาท ดังนั้น การจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนให้ อปท. จึงควรคำนึงถึงต้นทุนทางการเงินจากการกู้เงินเพื่อการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาล และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเร่งรัดให้ อปท. ใช้จ่ายเงินในการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการบริหารจัดการของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกกระทรวงให้ความสำคัญและกำชับหน่วยงานภายใต้สังกัดให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะในข้อ 3.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ