การรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 11:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ดังนี้

1. การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงาน OUTLET เพื่อประชาชน “มหกรรมสินค้าช่วยค่าครองชีพส่งตรงจากโรงงาน” ในวันที่ 2 — 4 มิถุนายน 2555 ณ บริเวณกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ประสานงานกับผู้ผลิตโดยตรง ให้นำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่าย ในราคาหน้าโรงงาน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ผลการจัดงาน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง กล่าวคือ มีประชาชนเข้าร่วมซื้อสินค้าในงานรวม 28,380 คน เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (25,000 คน) ผู้ประกอบการ จำนวน 471 ราย ที่นำสินค้ามาจำหน่าย มียอดขายสินค้ารวมทั้งสิ้น 19,869,213 บาท กลุ่มประเภทสินค้าที่ขายดี 4 อันดับ ได้แก่ 1) ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม (30 %) 2) อุปกรณ์เครื่องครัวและเครื่องใช้ภายในบ้าน (28 %) 3) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (22 %) 4) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (12 %) และเป็นยานพาหนะและอื่นๆ (8 %) ทั้งนี้ จากการสุ่มสำรวจประชาชนที่เข้ามาซื้อสินค้า พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ เช่น น้ำตาล ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น มีราคาถูกมากและถูกกว่าท้องตลาด

2. การดำเนินการฟื้นฟู เยียวยานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 658 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.43 ของโรงงานทั้งหมด 839 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555)

3. การดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดดำเนินการแล้ว 7,783 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.61 ของสถานประกอบการทั้งหมด 1,893 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555)

4. โครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555)

4.1 โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 47.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์สำหรับเป็นพื้นที่สำนักงานและโรงงานชั่วคราวสำหรับ สถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อการผลิต จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักร และมีสถานที่ดำเนินการตั้งอยู่ ณ สำนักงานอำนวยการศูนย์พักพิง บริเวณตลาดโรงเกลือประตูน้ำพระอินทร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 50 ผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ คิดเป็นร้อยละ 17.93 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วรวม 134 ราย จากเป้าหมาย 100 ราย ประกอบด้วยสถานประกอบการอุตสาหกรรม 71 ราย และวิสาหกิจชุมชน 63 ราย มีพื้นที่การใช้พื้นที่ทั้งหมดแล้ว 21,640 ตารางเมตร

4.2 โครงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกากอุตสาหกรรม ในสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 22 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในและนอกนิคม โดยส่งทีมวิศวกรออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เพื่อดูแล ตรวจสอบ และแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งชนิดอันตรายและไม่อันตรายและแก้ไข การปนเปื้อนของสารพิษ สารเคมี เพื่อให้สถานประกอบการฟื้นคืนสู่การผลิตดังเดิม และเกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชนบริเวณโดยรอบโรงงาน โดยมีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 80 ผลการใช้จ่ายเงินคิดเป็น ร้อยละ 24.01 ขณะนี้มีสถานประกอบการได้รับการตรวจสอบแล้ว จำนวน 2,060 ราย คิดเป็นร้อยละ 103 ของโรงงานเป้าหมายทั้งหมด (2,000 โรงงาน)

4.3 โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดิน และสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรม ในสถานประกอบการทั้งในและนอกนิคม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดินและสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกนิคม ในพื้นที่ 14 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 80 ผลการใช้จ่ายเงินคิดเป็นร้อยละ 23.16 ขณะนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลแล้ว จำนวน 1,294 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 99.39 ของตัวอย่างทั้งหมด (1,302 ตัวอย่าง)

4.4 โครงการศูนย์สารพัดช่างเพื่อการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 51.02 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนงานโครงการ ฯ

4.5 โครงการฟื้นฟูซ่อมแซมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 1.7697 ล้านบาท ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 70 โดยอยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารสถานที่

4.6 โครงการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 17.3768 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดจ้าง เพื่อดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์กากของเสีย การขนส่งและกำจัดกากของเสียในแต่ละประเภท

4.7 โครงการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 411.6177 ล้านบาท ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 6 ผลการใช้จ่ายเงินคิดเป็นร้อยละ 7.81 เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย โดยทำการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศผ่านสื่อต่างๆ 7 ครั้ง และได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาการลงทุนในต่างประเทศ 3 ครั้ง ที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และประเทศจีน

4.8 โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 148 ล้านบาท ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 45 ผลการใช้จ่ายเงินคิดเป็นร้อยละ 20.59 โดยได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสถานประกอบการโดยเข้าวินิจฉัย ทำการสำรวจ วิเคราะห์สถานประกอบการให้ทราบถึงปัญหา มูลค่าของความเสียหายที่ต้องหยุดประกอบกิจการ จำนวน 753 ราย และเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเชิงลึก การฟื้นฟูกระบวนการธุรกิจ (Business Process) จำนวน 198 ราย

5. ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555)

5.1 นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 339.046 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 226.03 ล้านบาท ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยมีบริษัท สหรัตนนคร จำกัด เป็นผู้บริหารฟื้นฟูฯ ใหม่

5.2 เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 75 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 2,145.455 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 1,430.303 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 46

5.3 นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 11.03 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 492.432 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 328.288 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 51.80

5.4 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 9.89 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 474.016 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 316.011 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 40

5.5 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 1,058.933 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 705.955 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 43.35

5.6 สวนอุตสาหกรรมบางกะดี การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 9.12 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน 345.16 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 230.107 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 53.83

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ