มติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 11:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เรื่องการเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก รายงานว่า

1. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก โดยได้มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการและประสานงานกับสำนักโบราณคดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

2. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร วธ. ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งมรดกโลก ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการสำรวจพื้นที่การประชุมร่วมกับภาคท้องถิ่นและประชุมสัมมนาทางวิชาการ เป็นต้น เพื่อจัดทำเอกสารการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

3. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 มีมติเห็นชอบในหลักการการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้น (Tentative List)

4. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก (Tentative List) และมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำเอกสารการนำเสนอเข้าสู่เบื้องต้นของมรดกโลก (Tentative List)

5. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุม ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 มีมติเห็นชอบร่างเอกสารการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก (Tentative List) โดยได้มอบหมายกรมศิลปากรดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกต่อไป

6. วธ. โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ผลการประชุมสรุปได้ว่าประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชสนับสนุนการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก

7. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 มีมติเห็นชอบการเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และให้นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก นำเสนอเพื่อบรรจุในบัญชีราชชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ต่อไป

8. สาระสำคัญในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชสรุปได้ดังนี้

8.1 ข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ชื่อแหล่ง จังหวัด พิกัดทางภูมิศาสตร์ แผนที่กำหนดตำแหน่งและขอบเขตของพื้นที่

8.2 ลักษณะของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

8.2.1 วัดพระมหาธาตุฯ เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ตั้งอยู่บนสันทรายและเป็นศูนย์กลางของเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีพัฒนาการมาจากรัฐสมัยแรกเริ่ม ชื่อว่า ตามพรลิงค์ ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ภาษาบาลีในพระพุทธศาสนาและสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี ในฐานะรัฐอิสระเมืองท่าทางการค้า ที่รุ่งเรือง ในโลกตะวันออก ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 — 17 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

8.2.2 ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานของวัด สร้างขึ้นโดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้ปกครองนครศรีธรรมราช ราวพุทธศตวรรษที่ 18 พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนและประชาชนยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ด้วย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมสามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 18 — 23 นอกจากนี้ยังรวมถึงวิหารโพธิลังกาที่ล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งได้นำหน่อมาจากพุทธคยา สังเวชนียสถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

8.2.3 การออกแบบวางผังของวัดพระมหาธาตุฯ นอกจากจะมีความสมบูรณ์ในลักษณะของวัดทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางความรู้ทางพุทธศาสนา ที่ยังคงยึดถือตามพุทธปรัชญา ซึ่งเป็นคุณค่าระดับสากล การออกแบบและประดับพระบรมธาตุเจดีย์มีการผสมผสานระหว่างแบบแผนสถาปัตยกรรมตามประเพณีและปรัชญาทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์

8.2.4 ปัจจุบันวัดพระมหาธาตุฯ และพระบรมธาตุเจดีย์ยังคงเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่มีผู้เคารพศรัทธามาอย่างต่อเนื่อง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ที่สืบทอดมาเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญโดดเด่นของโลก

8.2.5 วัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของมรดกโลก จำนวน 3 ข้อได้แก่

1) การออกแบบสถาปัตยกรรมและการวางแผนผังของวัดพระมหาธาตุฯ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบประเพณีทางพุทธศาสนาที่มีการแบ่งพื้นที่ภายในวัดตามประโยชน์การใช้สอย และมีพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นประธานของวัดการออกแบบอาคารและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเต็มไปด้วยการสื่อความหมายและปรัชญาทางพุทธศาสนาและเรื่องราวในพุทธประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ไม่เพียงเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงระฆังในภูมิภาค แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในดินแดนเหล่านั้น แสดงถึงอัจฉริยภาพของมนุษย์ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมอย่างชาญฉลาด

2) วัดพระมหาธาตุฯ ยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นของแท้ดั้งเดิม ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 รูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากศรีลังกา ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากสถูปทรงกลมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย และผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่นจนเป็นเอกลักษณ์ สัดส่วนของานสถาปัตยกรรมมีความสัมพันธ์กับปรัชญาทางพุทธศาสนา รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์ยังแผ่ขยายไปทั่งทั้งคาบสมุทรภาคใต้ และภูมิภาคอื่นในประเทศไทย เช่น อาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยา ซึ่งแสดงถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

3) พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีประเพณีวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับพระบรมธาตุเจดีย์ โดยได้แสดงออกในรูปแบบของานเทศกาล วรรณกรรม เพลง และการแสดงต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆะบูชา และวันวิสาขบูชาของทุกปี จะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาร่วมพิธีสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน

8.2.6 วัดพระมหาธาตุฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมและการประดับตบแต่งตามประเพณี และการสื่อความหมายด้านปรัชญาทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งมีประเพณีวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับปูชนียสถานแห่งนี้ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

8.2.7 สถาปัตยกรรมภายในวัดพระมหาธาตุฯ ยังคงรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน ได้รับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการอนุรักษ์โบราณสถานและการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย โดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ กรมศิลปากร พื้นที่โดยรอบได้รับการปกป้องโดยเทศบัญญัติและการดูแลรักษาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังได้รับการทำนุบำรุงจากประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างต่อเนื่อง

8.2.8 วัดพระมหาธาตุฯ มีลักษณะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คล้ายคลึงกับเมืองอนุราธปุระ เมืองโปโลนนารุวะ และเมืองแคนดี ในประเทศศรีลังกา มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ พระเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลมและการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศรีลังกา ซึ่งสืบทอดมาจากอินเดียรวมถึงประเพณีการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ คติความเชื่อ และพุทธศิลปะ มายังนครศรีธรรมราชและส่งต่ออิทธิพลดังกล่าวไปยังสุโขทัยและอยุธยา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ