คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการโครงการศึกษาเบื้องต้นการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอและมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีในโอกาสแรก
สาระสำคัญของโครงการศึกษาเบื้องต้นการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีดังนี้
1. หลักการและเหตุผล
1.1 คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องรับข้อมูลพื้นฐานทางด้านเมฆและอนุภาคขนาดเล็กในบรรยากาศชั้นสูง เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 เล็งเห็นความพร้อมของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้มารวมตัวกัน เพื่อการศึกษาร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการผลักดันให้เกิดพลวัตในการขับเคลื่อนทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาอวกาศที่สำคัญ
1.3 ได้ประจักษ์ว่ามีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งกำลังรอข้อมูลจากการศึกษาร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นหัวข้อในการศึกษาวิจัย และทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
1.4 มีความมั่นใจว่าการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในครั้งนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ ปราศจากเรื่องราวใด ๆ ทางการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
1.5 ได้ประเมินและทบทวนและพบว่า การยกเลิกความร่วมมือการศึกษาวิจัยเรื่องการ เปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เป็นความหายนะและความถดถอยทางวิชาการครั้งสำคัญของประเทศไทย
2. การดำเนินงาน
ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าใจสภาวะอากาศในระดับสูง โดยจะเน้นเรื่องเมฆและอนุภาคเล็ก ๆ ดังนี้
2.1 ประโยชน์ของโครงการ
- การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ
- ปริมาณและชนิดของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม
- การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน
- เป็นพื้นฐานการศึกษาในระดับสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2.2 ของบประมาณจากรัฐบาล งบกลางปีงบประมาณปี 2555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการศึกษาในช่วงฤดูฝนและเรื่องหมอกควันจากการเผาป่าในฤดูร้อน
2.3 ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของรัฐบาลเท่าที่มีอยู่ เช่น เครื่องบินของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร บอลลูน เรือ และเครื่องมือทางบกต่าง ๆ
2.4 ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป
3. กิจกรรม
จากการประชุมหารือระหว่างคณะนักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ของชั้นบรรยากาศไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามข้อ 1 — 2 โดยเสนอให้โครงการฯ มีกิจกรรมดังต่อไปนี้
3.1 การเก็บตัวอย่างทั้งการเก็บข้อมูลทั้งทางตรงและการตรวจวัดระยะไกล
3.2 การทำแบบจำลอง
3.3 การมีส่วนร่วมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ
3.4 การเผยแพร่ข้อมูลโดยจะได้จัดให้มีคลังข้อมูลและระบบบริการข้อมูลทั้งหมด
3.5 การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และ
3.6 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปแผนการดำเนินงานและงบประมาณ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--