การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของไทยในทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 11:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของไทยในทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ

(International Renewable Energy Agency: IRENA)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบธรรมนูญทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ และให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอรับความเห็นชอบต่อไป

2. อนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ธรรมนูญตามข้อ 1 แล้ว

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการภาคยานุวัติ หลังจากที่ธรรมนูญทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้แล้ว

4. เห็นชอบในหลักการในการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน/สนับสนุนรายปีให้แก่ IRENA ในการเป็นภาคีสมาชิกของประเทศไทยในทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (ประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศภาคีสมาชิก) ตลอดเวลาที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของ IRENA

ข้อเท็จจริง

พน. เสนอว่า

1. ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นองค์กรที่จัดตั้งเพื่อดูแลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศด้านพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งได้เปิดรับสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) และจากองค์การทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการประชุมก่อตั้งทบวงการฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีผู้แทนจาก 124 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย (ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์) ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรอิสระ (NGOs) อีก 34 องค์กร เข้าร่วมประชุม โดย IRENA มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์ และธรรมนูญของ IRENA มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 มีสำนักงานใหญ่ (Headquarters) ตั้งอยู่ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปัจจุบันมีสหภาพยุโรปและอีก 157 ประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งสหภาพยุโรปและอีก 94 ประเทศได้เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์แล้วโดยการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติ โดยในส่วนเอเชียตะวันออก ประเทศที่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์แล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มองโกเลีย และในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IRENA แล้ว คือ มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์

2. โดยที่การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก IRENA หลังจากที่ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ มีสถานะสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ประเทศไทยจะต้องดำเนินการตามกระบวนการภาคยานุวัติโดยการยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องรอผลการพิจารณาจากประเทศสมาชิก และหากประเทศสมาชิกไม่มีข้อคัดค้าน ภายใน 3 เดือน ประเทศไทยก็จะได้รับการอนุมัติการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังจากวันที่มีการส่งมอบภาคยานุวัติสารแก่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งกระบวนการภาคยานุวัติดังกล่าวของไทย ควรจะต้องดำเนินการโดยผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

3. ธรรมนูญของ IRENA ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นความตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ และตามธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ข้อ 13 วรรค เอ กำหนดให้ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) มีสถานะเป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศและมีความสามารถตามกฎหมายภายในของสมาชิกที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติภารกิจและเพื่อให้บรรลุความประสงค์ของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายของไทยมาเพื่ออนุวัติการตามธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น ธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ จึงเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนที่จะดำเนินการให้มีผลผูกพันโดยการภาคยานุวัติ ในการนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... เพื่อรับรองสถานะนิติบุคคลของ IRENA และให้ถือว่า IRENA มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วย

4. พน. พิจารณาแล้วเห็นว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก IRENA จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง สามารถขยายผลในเรื่องดังกล่าวไปยังภาคเอกชนได้อีกด้วย นอกจากนี้ จะเป็นการต่อยอดนโยบายด้านพลังงานทดแทนของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลกให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ในการส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกับงบประมาณเงินอุดหนุนที่ประเทศไทยจะต้องชำระสำหรับค่าสมาชิกรายปีในทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (ประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 2,240,000 บาทต่อปี) คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศภาคีสมาชิก) ก็นับว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ในอนาคตที่ประเทศไทยจะได้รับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ