เรื่อง การลงนามข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนและจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับแมลงศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช
โดยชีววิธีความร่วมมือทางวิชาการ (Agreement on Exchanging and Training on Insect Natural
Enemies for Biological Control of Agricultural Pests)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการลงนามข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนและจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับแมลงศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีความร่วมมือทางวิชาการ (Agreement on Exchanging and Training on Insect Natural Enemies for Biological Control of Agricultural Pests)
2. อนุมัติให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กษ. เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญ ให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กษ. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ได้ส่ง Dr. R.J. Rabinda ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาแมลงที่มีประโยชน์ทางการเกษตรแห่งชาติ สภาวิจัยด้านการเกษตรแห่งสาธารณรัฐอินเดีย (Director, National Bureau of Agriculturally Important Insects (NBAII), the Indian Council of Agricultural Research the Government of India) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าว เมื่อวันที่ 7 — 17 มิถุนายน 2554 ซึ่งจากการสำรวจและประเมินการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดสุราษฎร์ธานี Dr. R.J. Rabinda ได้แนะนำให้นำเข้าแตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าวจากสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อทดสอบและใช้ควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว ทั้งนี้ สาธารณรัฐอินเดียมีกฎหมายควบคุมเรื่องความหลากหลายทางชีววิทยาจะอนุญาตให้ส่งออกแมลงศัตรูธรรมชาติได้เฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยในรูปแบบการวิจัยที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
2. กรมวิชาการเกษตร กษ. มีความต้องการแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อนำมาทดสอบและใช้ควบคุมหนอนหัวดำที่เป็นปัญหาสำคัญและระบาดอย่างหนักในประเทศไทย โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มะพร้าว และพืชตระกูลปาล์ม เป็นต้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนและจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับแมลงศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีความร่วมมือทางวิชาการ (Agreement on Exchanging and Training on Insect Natural Enemies for Biological Control of Agricultural Pests)
3. เนื้อหาสาระของข้อตกลงฯ สรุปได้ดังนี้
3.1 สถาบันศึกษาแมลงที่มีประโยชน์ทางการเกษตรแห่งชาติจะส่งมอบแมลงศัตรูธรรมชาติรุ่นปฐมภูมิและการจัดฝึกอบรมการขยายพันธุ์แมลงศัตรูธรรมชาติดังนี้
(a) Goniozus nephantidis ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายตัวหนอนของหนอนหัวดำมะพร้าว
(b) Brachymeria nephantidis ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายดักแด้ของหนอนหัวดำมะพร้าว
(c) Acerophagus papaya ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายเพลี้ยแป้งมะละกอที่พบระบาดสร้างความเสียหายรุนแรงในมันสำปะหลังที่สาธารณรัฐอินเดีย ปัจจุบันพบเพลี้ยแป้งมะละกอลงทำลายมันสำปะหลังในประเทศไทย
3.2 กรมวิชาการเกษตร กษ. จะส่งมอบแมลงศัตรูธรรมชาติรุ่นปฐมภูมิและการจัดฝึกอบรมการขยายพันธุ์แมลงศัตรูธรรมชาติ ดังนี้
(a) Asecodes hispinarum ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว
(b) Tetrastichus brontispae ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายดักแด้ของแมลงดำหนามมะพร้าว
(c) Anagyrus lopezi ซึ่งเป็นแตนเบียนลงทำลายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
3.3 แมลงศัตรูธรรมชาติ และ/หรือ ข้อมูลที่เป็นความลับของแมลงศัตรูธรรมชาติจากผู้ส่งมอบจะต้องไม่ถูกนำไปใช้ในการให้คำปรึกษา การอ้างกรรมสิทธิ์แก่หน่วยงานอื่น หรือการถ่ายโอนการส่งต่อข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ การปล่อยให้ข้อมูลเล็ดลอดหรือการเปิดเผยข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่นโดยมิได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ส่งมอบการแลกเปลี่ยนจัดฝึกอบรมการขยายพันธุ์แมลงศัตรูธรรมชาติ
3.4 ผู้รับมอบ จะต้องส่งสำเนาการตีพิมพ์ผลงานต่าง ๆ ทุกฉบับที่ได้รับจากงานทดลองซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ การปรับปรุงแมลงศัตรูธรรมชาติรวมถึงผลพลอยได้จากการพัฒนาแมลงศัตรูธรรมชาติทั้งทางตรง/ทางอ้อม แมลงศัตรูธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้รับมอบจะต้องอ้างให้ทราบว่าผู้ส่งมอบเป็นแหล่งในการส่งมอบแมลงศัตรูธรรมชาตินอกเสียจากผู้ส่งมอบไม่ประสงค์ให้อ้างถึง
4. กษ. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อตกลงฯ มีความมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนแมลงศัตรูธรรมชาติ เพื่อทดสอบและใช้ควบคุมหนอนหัวดำที่เป็นปัญหาสำคัญและระบาดอย่างหนักในประเทศไทย โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มะพร้าว และพืชตระกูลปาล์ม เป็นต้น ดังนั้น การแลกเปลี่ยนแมลงศัตรูธรรมชาติภายใต้ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ องค์กรและผู้รับประโยชน์ปลายทางซึ่งหมายถึงเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--