เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดพื้นที่เขตการศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทาง
การพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการศึกษาของ พน. ในกรณีการกำหนดพื้นที่เขตการศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทาง การพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งพบว่าแหล่งหินน้ำมันแม่สอดมีคุณภาพต่ำ การจะนำไปผลิตไฟฟ้า หรือการสกัดเป็นน้ำมันหิน หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและการกลั่น จะไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ณ เวลาปัจจุบัน จึงเห็นสมควรยุติการศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งหินน้ำมันในด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า การสกัดเป็นน้ำมันหิน การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและการกลั่น
2. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ดำเนินการตามแผนการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมันแอ่งแม่สอดเป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพร้อมทั้งกำหนดให้พื้นที่ 104 ตารางกิโลเมตร ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 ธันวาคม 2550) บริเวณบ้านห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเขตเพื่อการศึกษา สำรวจและผลักดันการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซีเมนต์และก่อสร้าง) จากแหล่งหินน้ำมันแอ่งแม่สอด โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้ พน. โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ กฟผ. เป็นผู้ศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาแหล่งหินน้ำมันในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนั้น หน่วยงานทั้ง 2 แห่งดังกล่าวได้ดำเนินการการสำรวจและศึกษาเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งหินน้ำมันแม่สอด พบว่า หินน้ำมันมีคุณภาพต่ำ
2. ผลศึกษาการทำเหมือง พบว่า ต้นทุนการทำเหมืองสูงถึง 1,270 บาทต่อวัน
3. ผลศึกษาการใช้หินน้ำมันผลิตไฟฟ้า พบว่า ไม่คุ้มค่าในการลงทุน
4. ผลศึกษาการสกัดน้ำมันหินจากหินน้ำมัน พบว่า มีต้นทุนการผลิตสูงอยู่ในช่วง 90-160 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จึงไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์
5. ผลศึกษาด้านการกลั่นกรองและอุตสาหกรรมเคมี พบว่า เนื่องจากการสกัดเป็นน้ำมันหินนั้นไม่คุ้มค่าใช้เชิงพาณิชย์ ดังนั้น การลงทุนต่อด้านการกลั่นหรือในอุตสาหกรรมเคมี ที่ต้องใช้น้ำมันหินเป็นวัตถุดิบจึงไม่สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน
6. ผลศึกษาการใช้ประโยชน์หินน้ำมันในอุตสาหกรรมซีเมนต์ ในเบื้องต้นพบว่า อาจเป็นไปได้ในการนำหินน้ำมันแม่สอดไปใช้ในโรงปูนซีเมนต์ที่จังหวัดสระบุรี แต่ต้องศึกษารายละเอียดปริมาณสำรองหินน้ำมันและทดลองเผาหินน้ำมันในเตาผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
7. ผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมวลชนสัมพันธ์ กรณีที่มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหรือโรงสกัดหินน้ำมัน อาจมีผลกระทบที่เกิดจากกากหินน้ำมัน (ที่เกิดจากโรงสกัดหินน้ำมัน) เถ้าหินน้ำมัน (ที่เกิดจากโรงไฟฟ้า) และก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (ที่เกิดจากโรงสกัดหินน้ำมันและโรงไฟฟ้า) เนื่องจากกากหินน้ำมันและเถ้าหินน้ำมันมีสารปนเปื้อนประเภทสารไฮโดรคาร์บอนเชิงซ้อน สำหรับด้านมวลชนสัมพันธ์ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
8. พน. พิจารณาแล้วเห็นว่าแหล่งหินน้ำมันแม่สอด มีชั้นหินน้ำมันเป็นชั้นบางแทรกสลับด้วยหินดินดานจำนวนมาก ทำให้คุณภาพต่ำ ค่าความร้อนเฉลี่ย 900 แคลอรี-กรัม (ถ่านหินลิกไนต์เหมืองแม่เมาะมีค่าความร้อนเฉลี่ย 2,700 แคลอรี่/กรัม) และค่าใช้จ่ายสูงในการทำเหมืองแร่ การใช้หินน้ำมันผลิตไฟฟ้า สกัดเป็นน้ำมันหินหรือใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ด้านการกลั่นกรองและในอุตสาหกรรมเคมี ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน จึงเห็นควรยุติการศึกษาสำรวจแหล่งหินน้ำมันแม่สอดเพื่อเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การสกัดเป็นน้ำมันหิน การกลั่น และในอุตสาหกรรมเคมีดังกล่าว
9. การดำเนินการดังกล่าวตามข้อ 1.-7. ใช้งบประมาณจาก พน. จำนวน 17 ล้านบาท จาก กฟผ. จำนวน 15.6 ล้านบาท รวมใช้เงินทั้งสิ้น 32.6 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
10. อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แจ้งว่าสนใจที่จะศึกษาแนวทางการพัฒนาหินน้ำมันแม่สอดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--