คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ วท. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตอบรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม เชิงปฏิบัติการร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
2. เห็นชอบร่างหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ และหากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่มิใช่สารัตถะของร่างหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ให้ วท. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเพื่อพิจารณาดำเนินการแทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ
สาระสำคัญของเรื่อง
วท. รายงานว่า
1. กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศได้แจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ วท. ในฐานะผู้ประสานงานแห่งชาติระหว่างประเทศกับ International Atomic Energy Agency (IAEA) ว่า IAEA ได้ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop on Establishing a Nationnal Strategy for Education and Training in Radiation, Transport and Waste Safety ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 — 26 กรกฎาคม 2555 ภายใต้กรอบโครงการภูมิภาค RAS/9/066 “Strengthening Education and Training Infrastructure and Building Competence in Radiation Safety” [การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานในกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรมและเสริมสมรรถนะเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี] โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีความยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว
2. การประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop on Establishing a National Strategy for Education and Training in Radiation, Transport and waste Safety [การจัดตั้งยุทธศาสตร์ชาติสำหรับการเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้รังสีต่อการขนส่งและจัดการกากกัมมันตรังสี] มีวัตถุประสงค์เพื่อ
2.1 จัดเตรียมให้ประเทศสมาชิกมีความรู้ความเข้าใจวิธีการทำงานของ IAEA ในการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้รังสีต่อการขนส่งและจัดการกากกัมมันตรังสี โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานในกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี
2.2 ให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบแนวทางและมาตรฐานความปลอดภัยและแนวปฏิบัติของ IAEA รวมทั้งการจัดเตรียมความต้องการในกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรมความปลอดภัยทางรังสี และการสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติตามหัวข้อเรื่องดังกล่าว
2.3 รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งกรอบการกำกับดูแลในกระบวนการเรียนรู้และฝึกอบรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานกระบวนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 24 คนโดยประมาณจาก 20 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจาก IAEA ด้วย โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีความยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว
3. ในการตกลงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IAEA กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องใช้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ทรัพย์สินของ IAEA เจ้าหน้าที่ IAEA ผู้เข้าร่วมประชุมและครอบครัว (members of the immediate families of such persons) ตามความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของ IAEA ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2505
4. ในปี 2555 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมและฝึกอบรมของ IAEA โดยมีการใช้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามข้อ 3 แล้ว รวม 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกตามที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2505 รับรองให้กระทำได้
5. การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูในทางสันติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยในกรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติอีกด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--