คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติการจัดทำบันทึกความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แล้ว เพื่อให้เอกสิทธิและความคุ้มกันให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF และเจ้าหน้าที่ที่ IMF ส่งมาปฏิบัติงานในสำนักงาน
2. เห็นชอบให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจดำเนินการแทนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความตกลงฯ ในนามของรัฐบาลไทย
3. กรณีที่มีการแก้ไขบันทึกความตกลงฯ ในประเด็นที่ไม่กระทบต่อพันธกรณีของรัฐบาลไทยในเรื่องการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันและเจ้าหน้าที่ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
4. มอบหมายให้ กต. ดำเนินการออกเอกสารมอบอำนาจให้ ธปท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กค. รายงานความเป็นมา สาระสำคัญ และการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.1 IMF ได้หารือกับ ธปท. เพื่อขอจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF ในประเทศไทย (Thailand Technical Assistance Office) เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยในระยะแรกจะเน้นให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปนโยบายและระบบเศรษฐกิจหลังจากที่ได้เริ่มเปิดประเทศ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
1.2 รูปแบบการดำเนินงานของสำนักงานฯ จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก IMF ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน (Coordinator) 1 คน ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงาน (Resident advisors) 2 คน และอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาประจำการชั่วคราวตามความจำเป็น (Short-term experts) ครั้งละ 1-2 คน รวมทั้งพนักงานชาวไทยเพื่อช่วยงานเลขานุการ 1 คน โดยสำนักงานฯ จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณดำเนินงานจาก IMF ประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานฯ
1.3 ธปท. ได้พิจารณาให้สำนักงานของ IMF ดังกล่าวใช้พื้นที่ในอาคารของ ธปท. เป็นที่ตั้ง และสนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งสำนักงานของ IMF ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
1.4 ในการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว IMF ได้เสนอร่างบันทึกความตกลงให้ ธปท. พิจารณา โดยกำหนดขอบเขตการดำเนินงานที่จะขอรับความสนับสนุนจาก ธปท. รวมทั้งระบุประเด็นการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันแก่สำนักงานและเจ้าหน้าที่ของ IMF ที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน โดยอ้างถึงข้อกำหนดตามพันธะมาตรา 9 แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Articles of Agreement) และ Convention on the Privileges and Immunities of the Specialized Agencies Approved by the General Assembly of the United Nations on 21 November 1947 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี
2. กค. เห็นควรสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF ในประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีองค์การระหว่างประเทศและในภูมิภาคตามที่ ธปท. เสนอ โดยในส่วนของร่างบันทึกความตกลงฯ ให้เป็นไปตามการพิจารณาของ กต. ทั้งนี้ ในส่วนของการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันแก่สำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF และเจ้าหน้าที่ที่ IMF ส่งมาปฏิบัติงานที่สำนักงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องการให้สิทธิ์ทางด้านศุลกากร นั้น เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่ระบุในภาค 4 ของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 อยู่แล้ว
เนื่องจากกรรมการผู้จัดการ IMF มีกำหนดการเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงาน Thailand-ADB-IMF Conference ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศความร่วมมือและลงนามบันทึกความตกลงจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--