กรอบการเจรจาการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2012 14:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบกรอบการเจรจาการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี และให้นำเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อนดำเนินการต่อไป

2. เห็นชอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบการผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อเท็จจริง

กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอแนวทางหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและต่อภูมิภาคอาเซียน+3 โดยจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และสร้างความมั่นใจว่าประเทศสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างเพียงพอสำหรับการสร้างฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ในยามฉุกเฉิน และการจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น จะมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันการเกิดผลกระทบและการลุกลามต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่นและของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ที่แข็งแกร่ง เป็นรูปธรรม และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทายอยู่ในปัจจุบัน จึงเห็นควรสนับสนุนการทบทวนหลักการสำคัญของ CMIM และ การจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว

สาระสำคัญของกรอบการเจรจาฯ

1. การเพิ่มวงเงินของ CMIM ให้สูงขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น จะเพิ่มวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน CMIM จากเดิม 4.552 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 9.104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. การเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือกรณีไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF De-linked Portion) ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของ CMIM ปัจจุบันได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกได้รับความช่วยเหลือได้ จำนวนร้อยละ 20 ของจำนวนเงินสูงสุดหากสมาชิกไม่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้มากกว่าร้อยละ 20 นี้ จะเป็นการเพิ่มจำนวนเงินที่ประเทศจะได้รับความช่วยเหลือในระยะแรกจากสมาชิก CMIM ด้วยกัน

3. การจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis-prevention Facility) จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและของภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้เห็นควรให้มีการพิจารณาจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพิ่มจากเดิมที่ CMIM จะให้ความช่วยเหลือภายหลังจากที่สมาชิกประสบวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานหารือในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ