การแต่งตั้ง Designated Authority ของประเทศไทยสำหรับกองทุนด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2012 14:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้แต่งตั้งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทำหน้าที่เป็น Designated Authority ของประเทศไทยสำหรับกองทุนด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในหนังสือแจ้งการแต่งตั้ง Designated Authority ดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการของคณะกรรมการกองทุนด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว้าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และ 28 สิงหาคม 2545 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ และรัฐภาคีของพิธีสารเกียวโตภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวได้จัดตั้งกองทุนด้านการปรับตัว (Adaptation Fund) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเงินทุนในลักษณะเงินสนับสนุนให้เปล่า (Grant) สำหรับการดำเนินโครงการหรือแผนงานด้านการปรับตัวที่เป็นรูปธรรมในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นภาคีของพิธีสารเกียวโต และมีกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility : GEF) เป็นฝ่ายเลขาธิการ และธนาคารโลกเป็นผู้ดูแลเงิน (Trustee) โดยกองทุนฯ จะทำงานภายใต้การชี้แนะและต้องรายงานต่อที่ประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต

2. กองทุนด้านการปรับตัวฯ มีหนังสือลงวันที่ 8 เมษายน 2553 เชิญชวนให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นภาคีของพิธีสารเกียวโตแจ้งการแต่งตั้ง Designated Authority ของแต่ละประเทศไปยังสำนักเลขาธิการของกองทุนฯ โดยให้ประเทศภาคีมีหนังสือลงนามโดยรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจในคณะรัฐมนตรีเพื่อแจ้งการแต่งตั้ง Designated Authority ดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการของกองทุนฯ ในการเข้าถึงการสนับสนุนของกองทุนฯ จำเป็นต้องมีการแต่งตั้ง Designated Authority เป็นขั้นตอนแรก โดย Designated Authority จะเป็นเสมือนตัวแทนของรัฐบาลที่จะให้การรับรองในเบื้องต้นต่อข้อเสนอโครงการ และเพื่อคัดเลือกหน่วยปฏิบัติงานหลักของประเทศ (National Implementing Entities : NIEs) ก่อนส่งไปให้ Adaptation Fund Board ให้การพิจารณารับรอง

3. การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ

3.1 Direct Access Modality รัฐภาคีสามารถส่งข้อเสนอโครงการหรือโปรแกรมด้านการปรับตัวไปยัง Adaptation Fund Board ได้โดยตรง โดยผ่านทางหน่วยปฏิบัติงานหลักของประเทศ (National Implementing Entities : NIEs) ที่ได้รับการแต่งตั้ง

3.2 MIE Access Modality รัฐภาคีส่งข้อเสนอโครงการหรือโปรแกรมด้านการปรับตัวผ่านทางองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Multilateral Implementing Entity (MIE)

4. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ) ในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติเห็นควรให้ ทส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานเชิงปฏิบัติการของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก [Global Environmental Facility (GEF) Operational Focal Point] ทำหน้าที่เป็น Designated Authority ของประเทศไทยสำหรับกองด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ