การจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างผลอาสินในพื้นที่โครงการปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดา (ด่านพรมแดนสะเดา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2012 11:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้จ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินในที่ดินโครงการปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดา (ด่านพรมแดนสะเดา) ดังนี้

1. จ่ายเงินชดเชยสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินในที่ดินให้กับผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ตกลงโดยมีบันทึกยินยอมรับราคาตามที่คณะทำงานตกลงราคาและจ่ายเงินชดเชยกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไขทั้งหมด จำนวน 36 แปลง เนื้อที่รวม 18-1-13.5 ไร่ เป็นเงินทั้งสิ้น 39,895,069.63 บาท

2. ในระหว่างรอขั้นตอนดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ส่งมอบพื้นที่ให้กรมศุลกากร ให้กรมศุลกากรร่วมกับจังหวัดสงขลาและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลาร่วมกันจ่ายเงินค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินในที่ดินโครงการไปก่อน

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นควรต้องพิจารณารายละเอียดของพื้นที่และตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งระยะเวลาที่ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐประกอบการพิจารณาจ่ายเงิน และความเห็นของสำนักงบประมาณที่ให้กรมศุลกากรเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นก่อนการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎร และดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี มาตรฐาน และระเบียบแบบแผนของทางราชการที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งกำกับ การตรวจสอบสิทธิ์ของบุคคลและการจ่ายเงินให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ สำหรับงบประมาณเพื่อการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว ให้กรมศุลกากรพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่ได้รับจัดสรรสำหรับเป็นค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งก่อสร้างด่านศุลการสะเดาแห่งใหม่ และได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน โดยขอให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านศุลกากรทางบกที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ในแต่ละปีมีมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านเขตแดนทางบกมากที่สุดในประเทศไทย (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) มีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมากเฉลี่ยปีละประมาณ 3 ล้านคน สามารถนำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล และมีแนวโน้มว่าจะขยายสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องประมาณปีละร้อยละ 20 เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดากับด่าน Bukit Kayu Hitam ประเทศมาเลเซีย เป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าไปสู่ตลาดเอเชียและตลาดโลก และจะทวีความสำคัญยิ่ง ๆ ขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาร่วมสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย (IMT-GT) จากปริมาณการค้า ปริมาณนักท่องเที่ยว ปริมาณรถบรรทุก รถทัศนาจร และรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่การให้บริการมีจำกัดไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาความแออัด การจราจรติดขัด มีข้อจำกัดด้านการให้บริการอันเป็นปัญหาส่งผลกระทบถึงการค้าการท่องเที่ยว รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจังหวัดสงขลา และกรมศุลกากรจึงได้มีแผนที่จะให้มีการขยายพื้นที่ด่านพรมแดนสะเดา โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีการขยายพื้นที่ด้านหลังด่านพรมแดนสะเดาฝั่งขาออกไปประเทศมาเลเซีย โดยจะจัดสร้างเป็นลานจอดสำหรับรถสินค้าและรถยนต์ส่วนบุคคลที่รอการเดินทางผ่านแดนออกไป พร้อมสร้างถนนเลียบรั้วชายแดนไปเชื่อมต่อกับพื้นที่โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เพื่อเป็นการบรรเทาความแออัดในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกและการท่องเที่ยว

2. พื้นที่โครงการเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองล่าปัง เนื้อที่จำนวน 18 ไร่เศษ โดยการจัดหาที่ดินดังกล่าว จังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินจำนวน 4 คณะ เพื่อดำเนินการรังวัดจัดทำแปลงที่ดิน สำรวจผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดหลักเกณฑ์และคำนวณค่าชดเชย และตกลงราคาและจ่ายเงินค่าชดเชย และต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 1 คณะ เพื่อทำการเจรจาจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ครอบครองที่ดิน

3. กรมศุลกากรและจังหวัดสงขลาได้นำเสนอโครงการดังกล่าวเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 17 ล้านบาท (กันเงินเหลื่อมปี) เพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

4. ที่ดินโครงการมีจำนวน 36 แปลง มีผู้ครอบครองและทำประโยชน์จำนวน 33 ราย เนื้อที่รวม 18-1-13.5 ไร่ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นบ้านพักอาศัยแบบถาวร มีผลดำเนินการ ดังนี้

4.1 การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง คณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และคำนวณค่าชดเชย ตามคำสั่งจังหวัดสงขลาที่ 1745/2553 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ได้ใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ค่าชดเชยผลอาสินใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยผลอาสินของกรมชลประทาน ปี พ.ศ. 2549 ตามหนังสือสำนักชลประทานที่ 16 ที่ กษ 0303(16)/147 ลงวันที่ 22 เมษายน 2551
  • ค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศจังหวัดสงขลา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2550 เรื่อง บัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ซึ่งให้ใช้ในปี พ.ศ. 2551 - 2554) กรณีรายการสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีในบัญชีตามประกาศจังหวัดสงขลาดังกล่าว จะใช้หลักเกณฑ์เทียบเคียงราคาการชดเชยสิ่งปลูกสร้างโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ซึ่งฐานราคาดังกล่าวได้คำนวณโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาตามหลักวิชาการในการก่อสร้างและสภาพความเป็นจริง

4.2 รวมราคาการคำนวณค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินจำนวน 39,895,069.63 บาท

4.3 ผู้ครอบครองได้ตกลงยินยอมรับค่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่มีเงื่อนไขแล้วทั้งหมด (36 แปลง)

5. การจ่ายค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งก่อสร้างในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินของกรมป่าไม้ แม้ว่าราษฎรผู้ครอบครองที่ดินจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่สำหรับต้นไม้และสิ่งก่อสร้างถือว่าเจ้าของย่อมมีสิทธิในทรัพย์ซึ่งตนได้ทำขึ้นตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับในการเข้าใช้พื้นที่ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้มีการจ่ายค่าชดเชยผลอาสินและสิ่งปลูกสร้างมาโดยตลอด ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ภาครัฐต้องใช้เพื่อเป็นการเยียวยาราษฎรผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการพัฒนาของรัฐ รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหามวลชนและกระแสการคัดค้านหรือต่อต้านโครงการ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ให้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินในที่ดินโครงการด่านศุลกากรบ้านประกอบส่วนขยาย ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดินของกรมป่าไม้และมีหลักเกณฑ์การกำหนดค่าชดเชยในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดยกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ที่จะให้ดำเนินการใช้จ่ายเงินงบประมาณได้ แต่โครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในปัจจุบันและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ