ขออนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2012 11:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

3. หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากการกำหนดกลไกการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐบาลไทยให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ

1. คู่ภาคีจะขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

2. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่ภาคี

(1) รัฐบาลเมียนมาร์จะให้ความคุ้มครอง/ความปลอดภัย และจัดหาสาธารณูปโภคอื่น ๆ พร้อมดำเนินการให้บริเวณดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ และพิจารณาระบบความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่โครงการกับกรุงย่างกุ้งและเมืองหลักอื่น ๆ ในเมียนมาร์ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการลงทุน

(2) รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการช่วยเหลือทางเทคนิค ถ่ายทอดเทคโนโลยี แนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการจัดการ สนับสนุนการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน เร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางจากจุดผ่านแดนไทย — เมียนมาร์ ไปยังกรุงเทพฯ — แหลมฉบัง และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามในการระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการ

3. ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานกันต่อไป

4. ผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมภายใต้กฎหมายเมียนมาร์และความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย — เมียนมาร์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยการลงทุนจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเมียนมาร์

5. หากภายใต้ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศที่สามประสงค์จะเข้าร่วมเป็นภาคีบันทึกความเข้าใจฯ นี้ คู่ภาคีจะพิจารณาการให้เข้าร่วมเป็นภาคี

6. บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะขยายเวลาโดยอัตโนมัติหลังจากนั้นอีกครั้งละ 3 ปี เว้นแต่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งหกเดือนล่วงหน้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ