แนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2012 11:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน ตามมติ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า

1. ปัจจุบันองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 แต่ละหน่วยงานได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนในกรณีต่าง ๆ ขึ้นบังคับใช้แตกต่างกัน และอาจขัดหรือแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการขององค์การมหาชนไว้

2. สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

       กรณี                                    แนวปฏิบัติ
ผู้อำนวยการกรณีเลิกจ้าง                     จ่ายค่าชดเชยโดยระบุในสัญญาจ้าง
                                       หรือระเบียบข้อบังคับ
ผู้อำนวยการกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้าง                ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยระบุใน
                                       สัญญาจ้าง
เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง กรณีเลิกจ้าง              จ่ายค่าชดเชยโดยระบุในสัญญาจ้าง
                                       หรือระเบียบข้อบังคับ
ลูกจ้างโครงการ กรณีเลิกจ้าง                 ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย

1. แนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน

1.1 หลักการ

(1) องค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งมาตรา 5 กำหนดว่าเป็นหน่วยงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรเป็นหลัก

(2) ข้อ (3) กฎกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2541 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดมิให้ใช้ข้อบังคับ หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงาน ที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน องค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน

(3) มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

(4) เพื่อให้ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับลูกจ้างทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงาน คณะกรรมการองค์การมหาชนสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 24 มาตรา 27 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน ในการกำหนดค่าชดเชยในการทำงานได้ตามกรณี

สำนักงาน ก.พ.ร. จึงจัดทำแนวทางการจ่ายค่าชดเชยของผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติสำหรับองค์การมหาชน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการขององค์การมหาชน และสอดคล้องกับข้อกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

1.2 คำนิยาม

“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่องค์การมหาชนจ่ายให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งองค์การมหาชนตกลงจ่ายให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารสูงสุดซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การมหาชน

“เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้าง” หมายความว่า บุคคลที่ปฏิบัติงานขององค์การมหาชนซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณขององค์การมหาชนจากหมวดค่าใช้จ่ายบุคลากร และมีลักษณะการจ้างตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งจ้าง สัญญาจ้าง หรือข้อตกลงการจ้าง

ทั้งนี้ จะไม่นับรวมถึงลูกจ้างโครงการที่ปฏิบัติงานให้องค์การมหาชนเป็นการชั่วคราวและปฏิบัติงานที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในลักษณะการจ้างงานในโครงการเฉพาะ โดยองค์การมหาชนได้และลูกจ้างโครงการได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง ซึ่งโดยปกติทั่วไปงานจะสิ้นสุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยเป็นการจ้างจากงบประมาณหมวดอื่นซึ่งมิใช่หมวดค่าใช้จ่ายบุคลากร

1.3 แนวปฏิบัติในการจ่ายค่าชดเชย

  • กรณีเลิกจ้างผู้อำนวยการ

องค์การมหาชนพึงจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างให้แก่ผู้อำนวยการตามที่ระบุในสัญญาจ้าง

“การเลิกจ้างผู้อำนวยการ” หมายความว่า การกระทำใดที่องค์การมหาชนไม่ให้ผู้อำนวยการทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ด้วยเหตุที่องค์การมหาชนถูกยุบเลิกและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งองค์การมหาชนจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อำนวยการตามที่ระบุในสัญญา

โดยคณะกรรมการองค์การมหาชนควรดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ ดังนี้

(1) ระบุเรื่องค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างผู้อำนวยการในสัญญาจ้างให้ชัดเจนเมื่อเริ่มจ้าง ซึ่งผู้อำนวยการและองค์การมหาชนรับทราบข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการจ้างร่วมกัน โดยสัญญาจ้างอย่างน้อยควรระบุเงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่ง เงื่อนไขการเลิกสัญญาจ้าง การประเมินผลการทำงาน การจ่ายค่าชดเชย อัตราเงินเดือน และประโยชน์ตอบแทนอื่น

(2) คณะกรรมการองค์การมหาชนกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาจ้างข้างต้นด้วย

(3) สำหรับอัตราการจ่ายค่าชดเชยนั้น อาจเทียบเคียงกับอัตราตามที่กำหนดในกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงานได้ โดยไม่ต้องนำไปพิจารณารวมกับกรอบค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี

  • กรณีเลิกจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง

องค์การมหาชนพึงจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างตามที่ระบุในสัญญาจ้างหรือระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ในกรณีการเลิกจ้าง

“การเลิกจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง” หมายความว่า การกระทำใดที่องค์การมหาชนไม่ให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ด้วยเหตุที่องค์การมหาชนถูกยุบเลิกและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การยุบเลิกตำแหน่ง หรือเหตุอื่นใด

โดยคณะกรรมการองค์การมหาชนควรดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ดังนี้

(1) กำหนดเรื่องค่าชดเชยไว้ในสัญญาจ้าง ให้ระบุเรื่องค่าชดเชยในสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างให้ชัดเจนเมื่อเริ่มจ้าง โดยเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างและองค์การมหาชนรับทราบข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการจ้างร่วมกันถึงเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย อนึ่ง สัญญาจ้างอย่างน้อยควรระบุเงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่ง เงื่อนไขการเลิกสัญญาจ้าง การประเมินผลการทำงาน และการจ่ายค่าชดเชย

(2) คณะกรรมการองค์การมหาชนกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาจ้างข้างต้น

(3) สำหรับอัตราการจ่ายค่าชดเชยนั้น องค์การมหาชนอาจเทียบเคียงกับอัตราตามที่กำหนด ในกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงานได้ โดยไม่ต้องนำไปพิจารณารวมกับกรอบค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ