รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย — ซาอุดีอาระเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2012 11:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับต่อไป โดยในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

1.1 ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับข้อบทในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ 2 ประเด็น ดังนี้

(1) การแต่งตั้งสายการบินที่กำหนด ปรับปรุงข้อบทเรื่องการแจ้งแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดจากเดิมที่ระบุให้ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายสามารถแจ้งแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้เพียงหนึ่งสาย ให้เป็นหลายสาย เพื่อส่งเสริมให้มีสายการบินดำเนินบริการระหว่างกันมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงระบุให้สายการบินซาอุดีอาระเบียเป็นสายการบินที่กำหนดของซาอุดีอาระเบีย และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสายการบินที่กำหนดของไทย

(2) ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยการบิน ได้เพิ่มข้อบทว่าด้วยความปลอดภัย (Safety) และการรักษาความปลอดภัย (Security) การบินในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน โดยร่างข้อบททั้งสองเป็นไปตามร่างมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

1.2 ใบพิกัดเส้นทางบิน ได้ปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบิน โดยเพิ่มจุดเจดดาห์ และเปลี่ยนแปลงจุด “ดาห์รัน” เป็นจุด “ดัมมัม” ในเส้นทางบินของฝ่ายไทยและระบุจุดที่มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 7 แห่งของไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่ อู่ตะเภา เป็นจุดในเส้นทางบินของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย สำหรับจุดระหว่างทางและจุดพ้น ทั้งสองฝ่ายตกลงระบุเป็นสองจุดใด ๆ ที่จะระบุภายหลัง โดยเส้นทางดังกล่าวจะใช้ได้สำหรับทั้งบริการขนส่งผู้โดยสารและบริการขนส่งเฉพาะสินค้า

1.3 ความจุความถี่ของบริการ ปรับปรุงสิทธิความจุความถี่ของบริการไว้ดังนี้

(1) สายการบินที่กำหนดของไทย สามารถทำการบินด้วยอากาศยานแบบใด ๆ

  • ระหว่างจุดใด ๆ ในไทยและริยาด ได้ถึง 5 เที่ยวต่อสัปดาห์
  • ระหว่างจุดใด ๆ ในไทยและเจดดาห์ ได้ถึง 4 เที่ยวต่อสัปดาห์
  • ระหว่างจุดใด ๆ ในไทยและดัมมัน ได้ไม่จำกัดจำนวน

(2) สายการบินที่กำหนดของซาอุดีอาระเบีย สามารถทำการบินด้วยอากาศยานแบบใด ๆ

  • จากเจดดาห์และริยาด ไปยังจุดใด ๆ ในไทย ได้ถึง 9 เที่ยวต่อสัปดาห์
  • ระหว่างดัมมันและจุดใด ๆ ในไทย ได้ไม่จำกัดจำนวน

1.4 สิทธิรับขนการจราจร ทั้งสองฝ่ายตกลงให้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 แก่สายการบินของแต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่ ภายใต้ความจุความถี่ที่กำหนดสำหรับสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ให้เป็นไปโดยการตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่ายต่อไป

1.5 เที่ยวบินพิเศษ ทั้งสองฝ่ายตกลงระบุข้อความเกี่ยวกับเที่ยวบินพิเศษว่า การขอทำการบินเที่ยวบินพิเศษสามารถกระทำได้ โดยการส่งรายละเอียดของเที่ยวบินไปยังเจ้าหน้าที่การเดินอากาศเพื่อการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษต่อไป

1.6 การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงระบุข้อบทเรื่องการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ทั้งในส่วนของการทำการบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศคู่ภาคี ประเทศที่สาม และสายการบินในประเทศเดียวกัน เพื่อให้สายการบินของแต่ละฝ่ายมีทางเลือกที่จะร่วมมือด้านการบินกับสายการบินอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่

1.7 การรวมบันทึกความเข้าใจฉบับต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายตกลงรวมบันทึกความเข้าใจฉบับต่าง ๆ ที่ได้จัดทำขึ้นเป็นฉบับเดียว เพื่อให้สะดวกแก่การอ้างและง่ายต่อผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลใช้แทนบันทึกความเข้าใจฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด

2. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย

2.1 ตัวบทความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ

2.2 กรอบด้านการปฏิบัติการ

2.3 ใบพิกัดเส้นทางบิน (รายละเอียดต่าง ๆ เหมือนกับบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 1)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ