การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2012 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด

และการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2020 (ค.ศ. 2011) เกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย (ขยายเวลาการดำเนินมาตรการ จนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555) เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติโดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทย

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงคมนาคม (คค.) กรมประมง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ถือปฏิบัติ และแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ กต. ทราบเพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 คณะมนตรีความมั่นคงฯ รับรองข้อมติที่ 2020 (ค.ศ. 2011) ขยายเวลาการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย ออกไปจนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

2. สาระสำคัญของข้อมติ ที่ 2020 (ค.ศ. 2011) สรุปได้ ดังนี้

2.1 ข้อ 5 เรียกร้องให้รัฐสมาชิกร่วมมือตามความเหมาะสมในเรื่องการจับตัวประกันและการดำเนินคดีกับโจรสลัดที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับตัวประกัน

2.2 ข้อ 7 เรียกร้องอีกครั้งให้รัฐสมาชิกและองค์กรระดับภูมิภาคที่มีขีดความสามารถที่จะกระทำได้ เข้าร่วมปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย โดยการส่งกองกำลังเรือรบ อาวุธและอากาศยานทหาร และโดยการตรวจยึดและทำลายเรือ อาวุธ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกใช้ในการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย หรือมีเหตุอันน่าเชื่อว่าจะถูกนำไปใช้ในการดังกล่าว โดยให้การปฏิบัติสอดคล้องกับข้อมตินี้และกฎหมายระหว่างประเทศ

2.3 ข้อ 9 สนับสนุนให้รัฐสมาชิกร่วมมือกับรัฐบาลชั่วคราวโซมาเลียอย่างต่อเนื่องในการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐบาลชั่วคราวโซมาเลีย และตัดสินใจขยายอาณัติ ซึ่งอนุญาตให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาคที่ร่วมมือกับรัฐบาลชั่วคราวโซมาเลียสามารถเข้าไปในน่านน้ำของโซมาเลีย และดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยอาวุธออกไปอีก 12 เดือนนับจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 โดยรัฐบาลชั่วคราวโซมาเลียได้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบล่วงหน้าแล้ว

2.4 ข้อ 15 เรียกร้องให้รัฐสมาชิกกำหนดการกระทำอันเป็นโจรสลัดเป็นฐานความผิดตามกฎหมายภายในของตน และพิจารณาดำเนินคดีและคุมขัง หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ซึ่งโจรสลัดที่ต้องสงสัยที่ถูกจับบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลียรวมทั้งผู้ประสานงานและผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินในการดำเนินการดังกล่าวที่อยู่บนบกโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

3. ในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ไทยมีพันธกรณีจะต้องดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ อยู่แล้ว และไม่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อมติข้างต้นได้อย่างครบถ้วน ทำให้ในบางกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป โดยให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายภายในของไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ