การขอชดเชยราคานำเข้าน้ำมันปาล์ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2012 15:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 22.20 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลการขาดทุนขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จากส่วนต่างของต้นทุนการนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์กับราคาจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 และวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ในปริมาณไม่เกิน 30,000 ตัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณานำเข้าน้ำมันปาล์มในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและราคาผลปาล์มในประเทศและให้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลผลการขาดทุนจากการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้นจริง ก่อนขอทำความตกลงในรายละเอียดงบประมาณกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 17 เมษายน 2555 และวันที่ 8 พฤษภาคม 2555) พณ. โดย อคส. ได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) จำนวน 10,000 ตัน ในวันที่ 8-16 พฤษภาคม 2555 ในราคากิโลกรัมละ 31.00 บาท และจัดสรรให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตและจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชปาล์มในราคาขวดลิตรละ 42.00 บาท โดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชยและหลังจากนั้น ไม่มีการนำเข้าเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติ

2. สถานการณ์ปัจจุบันสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศมีความผันผวนมากทั้งด้านปริมาณและราคา ดังนี้

2.1 ด้านปริมาณ

2.1.1 ปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาด จากการติดตามปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันตั้งแต่เดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2555 พบว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจริงต่ำกว่าประมาณการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทุกเดือนเฉลี่ยร้อยละ 25 จึงคาดว่าผลปาล์มที่จะออกในช่วงเดือนกรกฎาคม — สิงหาคม 2555 จะต่ำกว่าที่ กษ. คาดการณ์ไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25

2.1.2 การกำหนดระดับสต๊อก คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้กำหนดระดับสต็อกปลอดภัยอยู่ที่ 200,000 ตัน ระดับเตือนภัยอยู่ที่ 168,000 ตัน และระดับวิกฤตอยู่ที่ 135,000 ตัน

2.1.3 การตรวจสอบสต็อก ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2555 มีจำนวน 158,633 ตัน คาดว่าเดือนกรกฎาคม 2555 จะมีสต็อกประมาณ 126,353 ตัน และเดือนสิงหาคม 2555 ประมาณ 115,907 ตัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มทั้งระบบเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ปรากฎว่ามีปริมาณน้ำมันปาล์มคงเหลือทุกชนิดทั้งระบบ เมื่อคำนวณในรูปน้ำมันปาล์มดิบแล้วมีปริมาณ 131,825 ตัน หากไม่รวมสต็อก บี 100 (7,765 ตัน) จะเหลือสต็อกสำหรับบริโภคเป็น 124,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าระดับวิกฤต (135,000 ตัน)

2.1.4 ความต้องการใช้ การใช้น้ำมันปาล์มในภาคการผลิตน้ำมันพืชบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 49 ภาคพลังงาน (ไบโอดีเซล) ประมาณร้อยละ 33 และส่งออกประมาณ ร้อยละ 18

2.2 ด้านราคา ราคาผลปาล์มปัจจุบัน (20 กค. 55) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.05 บาท น้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละ 35.00 บาท สูงกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันพืชปาล์ม (กิโลกรัมละ 29.00 บาท) ที่กำหนดให้จำหน่ายไม่เกินขวดลิตรละ 42.00 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซียกิโลกรัมละ 30.30 บาท ต่ำกว่าราคาในประเทศถึงกิโลกรัมละ 4.70 บาท (ปกติราคาในประเทศสูงกว่ากิโลกรัมละ 1.00 — 2.00 บาท)

3. ปัญหา

มาตรการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในปัจจุบันไม่สมดุล กล่าวคือ

3.1 การนำเข้า มีการควบคุมการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA อัตราภาษีร้อยละ 0 โดยกำหนดให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

3.2 การส่งออก ปัจจุบันส่งออกได้โดยเสรีไม่จำกัดปริมาณ

3.3 ด้านพลังงาน (การผลิตไบโอดีเซล บี 100) มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุน เพื่อให้ราคาไบโอดีเซลมีเสถียรภาพ และไม่มีข้อจำกัดในการกำหนดราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ทำให้ในช่วงที่น้ำมันปาล์มดิบมีน้อย น้ำมันปาล์มจะไหลไปที่โรงงานผลิตไบโอดีเซลก่อน ส่วนที่เหลือจึงเข้าโรงกลั่นน้ำมันพืชเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค

4. แนวทางการดำเนินการ

4.1 ระยะสั้น

4.1.1 ตรึงราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มไว้ที่ขวดลิตรละ 42.00 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล

4.1.2 ให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นอย่างเร่งด่วน เพื่อคลี่คลายปัญหามิให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มเช่นเดียวกับต้นปี 2554 โดยนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มเติมอีกจำนวน 30,000 ตัน เนื่องจากคาดการณ์ว่า สต็อก ณ เดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 126,353 ตัน ซึ่งต่ำกว่าระดับวิกฤตที่ 135,000 ตัน ซึ่งจะทยอยนำเข้าครั้งละ 10,000 ตัน หากผลผลิตมีมากขึ้นจนสต็อกอยู่ในระดับปลอดภัยจะยุติการนำเข้า เพื่อมิให้กระทบต่อเกษตรกรและอาจเสนอให้มีการนำเข้าเพิ่มเติมอีกหากปริมาณสต็อกยังต่ำกว่าระดับปลอดภัย (200,000 ตัน)

4.2 ระยะยาว

4.2.1 สร้างความสมดุลด้านปริมาณการใช้ในประเทศการส่งออกและนำเข้า เช่น กำหนดโควต้าและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกและโควต้าการนำเข้า เป็นต้น

4.2.2 กำหนดให้มีการจัดเก็บสต็อกน้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภคและพลังงาน เพื่อให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อการบริโภคและไม่เกิดปัญหาการขาดแคลน

4.2.3 จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมันพืชปาล์มเพื่อดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแล รวมทั้ง ให้เกษตรกรจำหน่ายในราคาที่คุ้มต่อต้นทุนการผลิต

5. การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำมันพืชปาล์มขาดแคลนในรัฐบาลที่ผ่านมาในช่วงต้นปี 2554 ได้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกสูงขึ้นจากขวดลิตรละ 38.00 บาท เป็น 47.00 บาท สูงขึ้นลิตรละ 9.00 บาท (ต่อมาได้มีการปรับราคาลดลงเหลือ 42.00 บาท) โดยดำเนินการนำเข้าและซื้อในประเทศ ซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มรวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 213.78 ล้านบาท ดังนี้

5.1 นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข(CPOL) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26-31 มกราคม 2554 จำนวน 30,000 ตันไม่มีการจ่ายเงินชดเชย

5.2 นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข (CPOL) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 12 มีนาคม 2554 จำนวน 30,000 ตัน โดยจ่ายเงินชดเชย จำนวน 72.32 ล้านบาท และมีการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ในประเทศจำนวน 15,000 ตัน จ่ายเงินชดเชยจำนวน 92.15 ล้านบาท

5.3 ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศจำนวน 57,229.20 ตัน จ่ายเงินชดเชยจำนวน 49.31 ล้านบาท

6. ในปัจจุบันกรมการค้าภายในและ อคส. ได้ดำเนินการนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) จำนวน 10,000 ตัน (ผลิตน้ำมันพืชปาล์มประมาณ 6.462 ล้านลิตร) โดย อคส. ได้ออกประกาศให้มีการเสนอราคาขาย และร่วมกับกรมการค้าภายในพิจารณาราคาที่มีผู้เสนอขายจำนวน 3 ราย ซึ่งราคานำเข้าต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 32.18 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าประมาณกิโลกรัมละ 0.10 บาท รวมเป็นต้นทุนนำเข้าประมาณกิโลกรัมละ 32.28 บาท โดยจำหน่ายให้แก่โรงกลั่น ฯ กิโลกรัมละ 31.54 บาท (เป็นราคาที่โรงกลั่นฯ สามารถจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มในราคาขวดลิตรละ 42.00 บาท) โดย อคส. จะมีผลขาดทุนกิโลกรัมละ 0.74 บาท เป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท และจะนำเข้าเพิ่มเติมอีก 20,000 ตัน ซึ่งราคานำเข้าอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ อคส. อาจจะมีการขาดทุนเพิ่มอีกประมาณ 16 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคานำเข้าในขณะนั้น ทั้งนี้ พณ. จะมีการกำกับดูแลให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มผลิตน้ำมันพืชปาล์มชนิดขวดและถุงตามปริมาณที่มีการนำเข้า รวมทั้งจะไม่ให้มีการส่งออกน้ำมันพืชปาล์มในส่วนที่มีการนำเข้า หากสถานการณ์น้ำมันปาล์มเข้าสู่สภาวะปกติจะยุติการนำเข้าทันที

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ