การส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติในโอกาสทศวรรษครบ 100 ปี ของการสหกรณ์ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2012 15:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินการตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์

2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์

3. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ

ตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า

1. ปัจจุบันในประเทศไทยมีสหกรณ์จำนวนทั้งสิ้น 7,964 สหกรณ์ และมีสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 10.8 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกันทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 18.95 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยสามารถแยกประเภทของธุรกิจที่สหกรณ์ดำเนินการ ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน จำนวน 559,808.2 ล้านบาท ธุรกิจการให้เงินกู้ จำนวน 1,249,763.3 ล้านบาท ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย จำนวน 71,419.0 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมผลผลิต จำนวน 120,700.8 ล้านบาท ธุรกิจการแปรรูปผลผลิต จำนวน 34,708.8 ล้านบาท และธุรกิจบริการ จำนวน 12,662.0 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2555)

2. องค์การสหประชาชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของวิธีการสหกรณ์ รวมทั้งบทบาทของสหกรณ์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และการแก้ไขปัญหาความยากจน องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้ปี 2012 เป็นปีสากลแห่งการสหกรณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตระหนักในคุณค่าของบทบาทสหกรณ์ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความยากจนของประเทศ และขอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ขยายเผยแพร่หลักสหกรณ์ไปในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนใช้หลักสหกรณ์ในวิถีชีวิตของตนเอง

3. จากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ในโอกาสทศวรรษ ครบ 100 ปี ของการสหกรณ์ไทย ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พ.ศ. 2553 ได้เห็นความจำเป็นในการผลักดันให้สหกรณ์เข้าสู่วาระแห่งชาติดังนี้

3.1 สหกรณ์ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล

อย่างต่อเนื่อง

3.2 สหกรณ์เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเศรษฐกิจและสังคมทั้งในชนบทและในเมืองของประเทศไทย

3.3 สหกรณ์เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของประชาชน

3.4 สหกรณ์เป็นกลไกสร้างการเรียนรู้วิถีแห่งประชาธิปไตยในระยะยาว ยอมรับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่

เป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย

3.5 ระบบสหกรณ์มีอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกโดยการช่วยตนเอง

และช่วยเหลือซึ่งกันและกันสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3.6 สหกรณ์เป็นองค์กรที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

3.7 รัฐได้ใช้สหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตั้งแต่ปี 2459

และระบบสหกรณ์ดำเนินงานมาจะครบ 100 ปี ในปี 2559

ดังนั้น เพื่อให้ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาความยากจนของประเทศได้อย่างยั่งยืน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา จึงเห็นสมควรเสนอให้ “สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ” โดยมีแนวทางดำเนินการหลังการประกาศ “สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ” โดยคาดหวังว่าหากสหกรณ์ได้รับการพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติ จะมีผลในทางปฏิบัติในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

1) เป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกร

ปัญหาจากผลของ AFTA สหกรณ์สามารถรองรับการตลาดผลผลิตการเกษตรได้ นโยบายส่งเสริมการออมภาคประชาชน

การแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ โดยสหกรณ์เป็นแหล่งการออมที่สำคัญของภาคประชาชน เป็นต้น

2) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาคโดยการขับเคลื่อนและพัฒนาการรวมกลุ่มเศรษฐกิจและสังคมในชนบทที่มี

หลากหลายให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้วิธีการสหกรณ์เพื่อลดความซ้ำซ้อน สร้างความชัดเจน

และความเอกภาพแก่ระบบการส่งเสริมกลุ่มของรัฐ รวมถึงเป็นการปฏิรูประบบการออมของประเทศที่ประชาชนสามารถ

พึ่งตนเองได้ในระยะยาว

3) เป็นกลไกสร้างการเรียนรู้ วิถีแห่งประชาธิปไตยในระยะยาว โดยปลูกฝังประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับเยาวชน

ผ่านกิจกรรมสหกรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะทำให้เกิดการซึมซับวิธีการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและสนับสนุนการประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ และสนับสนุนแนวทางการดำเนินการตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว ได้ตระหนักถึงบทบาทของสหกรณ์ที่เป็นองค์กรสำคัญของสังคมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาชนบท ซึ่งจำเป็นที่ส่วนราชการต่างๆ และองค์กรประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดัน ร่วมกันทำบทบาทหน้าที่ของตนในการส่งเสริมและสนับสนุน

5. ยุทธศาสตร์การดำเนินงานวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างและพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์สู่วิถีชีวิตประชาชนในชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิต การตลาดและการเงินของสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนแผนพัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ขบวนการสหกรณ์ และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ให้เอื้อต่อการพัฒนา

6. การขับเคลื่อนสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ

เพื่อการขับเคลื่อนสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ จึงได้กำหนดกลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงต่าง ๆ จะร่วมดำเนินการภายหลังจากคณะรัฐมนตรีประกาศวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ