1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2555 ณ จังหวัดสุรินทร์
2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 6/2555 ณ จังหวัดสุรินทร์ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุม รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 6/2555 ในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2555 เวลา 18.10 — 20.00 น. ณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวม 4 ด้าน 16 เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (เสนอโดย กกร.)
1.1 ข้อเสนอ
1) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาวิจัยโครงการ “นครราชสีมา : เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่
ในอนุภาค” จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในด้านการกระจายความเจริญ และฟื้นฟูบูรณะ
ศูนย์กลางเดิม ยุทธศาสตร์กลุ่มเมือง ยุทธศาสตร์เมืองสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สมดุลยั่งยืน
ยุทธศาสตร์เมืองและชนบทพอเพียง
2) ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้านนโยบายและงบประมาณเพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรชายแดน ที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ
การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในอนาคต
1.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง รับข้อเสนอโครงการศึกษาวิจัยโครงการ
“นครราชสีมาเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ในอนุภาค” ไปพิจารณาดำเนินการ โดยให้มีผู้แทนภาคเอกชน
เข้าร่วมในคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการฯ ด้วย
2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลัก
ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมแปรรูป
สินค้าเกษตรชายแดนที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เสนอโดย กกร.)
2.1 ข้อเสนอ
1) ขอรับการสนับสนุนการพัฒนาและขยายเส้นทางการจราจร ประกอบด้วย 10 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการก่อสร้าง
ขยายทางหลวงหมายเลข 304 สาย อำเภอกบินทร์บุรี-อำเภอปักธงชัย (2 ช่วง) (2) การเร่งรัดโครงการสร้าง
เส้นทางถนนเลี่ยงเมือง จังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง 7.6 กิโลเมตร (3) โครงการขยายเส้นทางจราจรทางหลวง
หมายเลข 205 (โนนไทย - หนองบัวโคก ระยะทาง 31 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร (4) โครงการขยายทาง
หลวงหมายเลข 201 ช่วง อำเภอสีคิ้ว — อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา - บ้านแปรง ตำบลหนองบัวโคก
อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ระยะทาง 52 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร (5) การเร่งรัดโครงการขยายทางหลวง
หมายเลข 24 (อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ — อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็น 4 ช่องจราจร
ตลอดทั้งเส้น (6) โครงการขยายช่องทางจราจร ของจังหวัดสุรินทร์ จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร
จำนวน 3 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด และกับประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา)
(7) การขยายทางหลวงหมายเลข 226 (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา - บ้านหนองกระทิง
จังหวัดบุรีรัมย์) ช่วงกิโลเมตร 22+100 ถึงกิโลเมตร 78+700 (8) โครงการก่อสร้างวงแหวนรอบเมือง
จังหวัดนครราชสีมา ตอน 2 (ด้านเหนือ) (9) โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมแบบ 4 ช่องจราจร จาก
อำเภอเสนางคนิคม ถึง อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ (ชายแดนสปป. ลาว) ระยะทาง 50 กิโลเมตร
และ (10) โครงการปรับปรุงช่องการจราจร เส้นทางหมายเลข 2201 (บ้านนาเจริญ — บ้านละลม - บ้านแซร์ไปร์
อำเภอภูสิงห์ - ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ (เพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน)
2) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ จังหวัดนครราชสีมา — บุรีรัมย์ — สุรินทร์ — ศรีษะเกษ - อุบลราชธานี
ให้แล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อลดความหนาแน่น ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชากร
ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3) โครงการยกระดับสนามบินอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินในอินโดจีน และผลักดันให้มีเที่ยวบิน
และสายการบินต่างประเทศในอินโดจีนมาลงที่สนามบินอุบลราชธานี และบินไปยังเมืองสำคัญๆ ของกลุ่มอินโดจีน
โดยตรง(ไม่ต้องผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ) เพื่อส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และเพื่อรองรับ
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558
2.2 มติที่ประชุม
มอบหมายกระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) ศึกษาความเหมาะสมและจัดลำดับความสำคัญของการขยายเส้นทางและช่องจราจรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตอนล่าง โดยให้ความสำคัญกับเส้นทางและช่องจราจรที่เชื่อมโยงระหว่างภาคและประเทศเพื่อนบ้านในการเสนอ
ขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการลงทุนของภาครัฐ
สำหรับเส้นทางที่ไม่อยู่ในแผนงานการขยายแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวงให้ไปศึกษาในรายละเอียด
พิจารณาศึกษาความเหมาะสมและจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางการก่อสร้างถนนสายใหม่ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบ
ประมาณประจำปีตามขั้นตอน ทั้งนี้ การพิจารณาให้คำนึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
2) พิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งรัดแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคำนึงถึงข้อจำกัด
ด้านขีดความสามารถในการลงทุนของภาครัฐ และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ
โครงการควบคู่ไปด้วย
3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง
การบินในอินโดจีน โดยคำนึงถึงปริมาณความต้องการเดินทาง ความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ รวมทั้งโอกาสและข้อจำกัด
ในการรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาใช้บริการที่ท่าอากาศยานดังกล่าว
3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เสนอโดย กกร.)
3.1 ข้อเสนอ
1) ขอรับการสนับสนุนก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งขุนเพชร บริเวณบ้านแก่งกระจวนตำบลโคกสะอาด
อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้กับการใช้น้ำตามลำน้ำชี
โดยเฉพาะลำน้ำชีตอนบนตั้งแต่บริเวณท้ายน้ำของโครงการฯ ผ่านอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ
จนถึงอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
2) ขอให้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน เขื่อนชีบน และเขื่อนยางนาดี จังหวัดชัยภูมิ ให้แล้วเสร็จ
เนื่องจากผ่านมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เชิงยุทธศาสตร์ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแล้วโดยขอให้มีการพิจารณาทบทวนค่าเวนคืนที่ดินที่เหมาะสม
แก่ราษฎรในพื้นที่
3.2 มติที่ประชุม
มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปพิจารณา ดังนี้
1) เร่งรัดการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งขุนเพชร จังหวัดชัยภูมิ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557
และนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยต่อไป
2) ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนเขื่อนชีบน และเขื่อนยางนาดี จังหวัดชัยภูมิ
และนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยต่อไป
3) ร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย และกลุ่มจังหวัด พิจารณาการเชื่อมโยงพื้นที่ในการจัดหาแหล่งน้ำ
เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคแบบบูรณาการในภาพรวมทั้งระบบ โดยคำนึงถึงความพร้อมของพื้นที่
และการยอมรับของประชาชน ทั้งนี้ให้ขอความร่วมมือภาคเอกชนได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นในพื้นที่ด้วย
4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ (เสนอโดย สทท.)
4.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการ “นำช้างคืนถิ่น” และ “คชอาณาจักร” โดยให้มีการจัดสรร
งบประมาณอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมดังกล่าวให้แก่โครงการฯ
เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
2) ขอให้พัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในเขตอำเภอวังน้ำเขียวให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือ
ของภาครัฐและเอกชน โดยขอให้รัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน และให้เอกชนเข้าร่วมทุนในการปรับปรุง
เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะเดียวกับพืชสวนโลกของจังหวัดเชียงใหม่
แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการและบริหารจัดการในลักษณะร่วมทุน
3) ขอให้ส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอีสานใต้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพิจารณาเร่งประชาสัมพันธ์เส้นทาง
การท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการได้จัดทำขึ้น รวมถึงขอให้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคหลักของการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เชื่อมโยงดังกล่าว ได้แก่ (1) ปรับปรุงเส้นทาง สายโชคชัย — เดชอุดม — แยกไปด่านช่องสะงำ ต้องผ่านหมู่บ้าน
ระยะทาง 36 กิโลเมตร ให้สะดวกขึ้น และ (2) เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริม
การท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านใน 2 ประเด็นหลัก คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทย
ที่จะนำรถโดยสารปรับอากาศเข้าไปยังประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ตามเส้นทางท่องเที่ยว
และขอให้ผ่อนปรนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ รวมถึงการให้ผู้ประกอบการไทย
สามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ตรง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการลาวและกัมพูชาสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าไทย
ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการนำเที่ยวได้ด้วย
4.2 มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน การอนุรักษ์ช้างและอาชีพควาญช้าง
โดยบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรการกุศล เพื่อให้การดูแลอนุรักษ์ช้าง
เป็นไปอย่างเป็นระบบและสามารถแก้ไขปัญหาช้างได้อย่างยั่งยืน
2) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บูรณาการพัฒนาพื้นที่ป่า
เสื่อมโทรมในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยเน้นการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เชิงนิเวศ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ป่าสงวน
3) มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องการส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงอีสานใต้กับประเทศ
เพื่อนบ้าน ไปผนวกไว้ในแผนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในปี 2558 โดยพิจารณาใช้ประโยชน์จากความตกลงที่ไทยได้จัดทำร่วมกับกัมพูชา สปป. ลาว และเวียดนาม
เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง คมนาคม และการท่องเที่ยวระหว่างกัน
4) มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับไปพิจารณาความเหมาะสม
ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน และการบังคับใช้ใบอนุญาตประกอบกิจ
การนำเที่ยวในประเทศสำหรับบริษัทนำเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน และให้นำเสนอผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรี
ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
5. รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.ภูมิภาค) (เสนอโดย เลขาธิการ สศช.)
5.1 ข้อเสนอ
เลขาธิการ สศช. รายงานที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กรอ.ภูมิภาค ที่ได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้งที่ผ่านมา โดยภาคเอกชนได้มีการเสนอเรื่องที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งหมด 79 ประเด็น มีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายตามมติ กรอ.ภูมิภาค ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานมาจำนวน 35 หน่วยงาน ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้ว 71 ประเด็นจาก 79 ประเด็น ส่วนอีก 8 ประเด็นอยู่ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำรายงาน 7 ประเด็น และหน่วยงานภาคเอกชนขอถอนเรื่อง 1 ประเด็น ซึ่งประเด็นที่ได้มีการดำเนินการแล้วเสร็จและเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สรุปตัวอย่างได้ ดังนี้
1) เรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ การยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา เป็นจุดผ่านแดนถาวร
กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย — สปป.ลาว แล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มกราคม 2555
ได้อนุมัติวงเงิน 110 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณจุดผ่อนปรนบ้านฮวกแล้ว)
การเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเปิดจุดฯ แล้ว
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555 การศึกษาเพื่อปรับปรุงช่องทางจราจรเลียบแม่น้ำโขงเส้นทางหมายเลข 211
และ 212 กรมทางหลวงได้ศึกษาความเหมาะสมแล้ว ซึ่งกรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการตามผลการศึกษาดังกล่าว
และการเพิ่มทักษะภาษาต่างประเทศให้กับกลุ่มแรงงาน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงศึกษาธิการ
ได้พัฒนาโรงเรียน 68 แห่ง ให้เป็นศูนย์อาเซียนศึกษา โดยจัดสอนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน กระทรวงการท่อง
เที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน
ในสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว รวม 32 ตำแหน่ง
2) เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การเร่งรัดรถไฟทางคู่ กรุงเทพ - เชียงใหม่ กรุงเทพ - หนองคาย
กรุงเทพ - ปาดังเบซาร์ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
จังหวัดมุกดาหาร นครพนม และหนองคาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเขต
เศรษฐกิจฯ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 พื้นที่ภาคตะวันออก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างดำเนินการ และการเร่งรัดดำเนินการเรื่องแนวทาง/มาตรการส่งเสริม
อุตสาหกรรมไม้ยางพารา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามพิจารณาออกระเบียบภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นต้น
5.2 มติที่ประชุม
รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.ภูมิภาค) ตามที่เลขาธิการ สศช. เสนอ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานฯ มารายงานให้ทราบเป็นระยะ
6. เรื่องอื่นๆ ที่ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติม (เสนอโดย กกร./สภาธุรกิจตลาดทุนไทย) รวม 6 เรื่อง ดังนี้
6.1 ผลการประชุม 3rd Asian Business Summit (ABS) (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้พิจารณารับประเด็นข้อเสนอแนะจากการประชุม 3rd Asian Business Summit (ABS)
ประกอบด้วย (1) การสนับสนุนการเจริญเติบโตในเอเชียอย่างยั่งยืน (2) การกระชับความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย
(3) การส่งเสริมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (4) การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม
(5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ (6) การสร้างความเข้มแข็งในโซ่ห่วงอุปทานภายในภูมิภาคเอเชีย
เพื่อนำไปใช้ประกอบการประชุมผู้นำในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น APEC และ East Asia Summit
เป็นต้น และขอรับทราบความก้าวหน้าของข้อเสนอแนะเหล่านั้นในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอผลการประชุม 3rd Asian Business Summit (ABS) และมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
6.2 การส่งเสริมการค้าชายแดน โดยการยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวร (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้พิจารณายกระดับ “จุดผ่อนปรนชั่วคราว” เป็น “ด่านถาวร” เพื่อส่งเสริมอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน
ระหว่างไทย - กัมพูชา/สปป. ลาว และรองรับการเคลื่อนย้ายของสินค้าและคนภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจ
อาเซียนในปี 2558 ดังนี้ (1) “ช่องสายตะกู” ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ — บ้านจุ๊บโกกี
อำเภออัมปึล จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันเปิดทุกวันศุกร์และเสาร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. (2)
“จุดผ่อนปรนบ้านยักษ์คุ” อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ - บ้านเหล่าหมากหูด เมืองไซพูทอง แขวงสะหวันนะเขต
สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันเปิดทุกวันพุธและวันอาทิตย์ เวลา 06.00 - 18.00 น. และ (3) “จุดผ่อนปรนช่องตาอู”
บ้านหนองแสง อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี - บ้านเหียง เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก สปป. ลาว
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอ และมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทยติดตามรายงานความก้าวหน้าการยกระดับจุดผ่านแดนให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
6.3 โครงการปรับปรุงพื้นที่ด่านชายแดนช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ด่านชายแดนช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
จำนวนเงิน ประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ที่มาใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันด่านชายแดนช่องจอมยังเป็น
อาคารชั่วคราว ไม่สะดวกต่อการติดต่อประสานงานและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังรองรับนโยบายภาครัฐ
เกี่ยวกับการค้าเสรีอาเซียน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล เพื่อเป็นสถิติในการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศต่อไป
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอ และมอบหมายกระทรวงการคลัง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดสุรินทร์ รับไปพิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอต่อไป
6.4 การเร่งรัดจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งขอไว้สำหรับการ
จัดตั้งและบริหารสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อให้สามารถดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอ และมอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล)
ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานสำนักงบประมาณ รับไปพิจารณาในรายละเอียดการขอรับการสนับสนุน
งบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554
6.5 ข้อเสนอโครงการจัดตั้ง Northeastern Food Valley จังหวัดนครราชสีมา (เสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการจัดตั้ง Northeastern Food Valley
จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 947,400,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ภายในปีงบประมาณ 2556 - 2558)
2) มติที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด
โครงการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดเขตพื้นที่ดำเนินการในภาพรวมทั้งประเทศ โดยคำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าของ
ผลิตผลการเกษตรด้วย
6.6 โครงการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (เสนอโดย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย)
1) ข้อเสนอ
ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ
ประโยชน์ของตลาดทุน และสามารถใช้เครื่องมือที่มีในตลาดทุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือก
ของแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการขยายกิจการ และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
และเตรียมความพร้อมที่จะรองรับการเปิดเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จึงมุ่งหวังให้จังหวัดต่างๆ
มีความตื่นตัวเรื่องการลงทุน เสริมสร้างให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน
และหากสามารถนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ นับเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่จังหวัด
ได้อีกทางหนึ่ง
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอ และมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา
ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามที่เสนอ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--