ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ปี 2012

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2012 11:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมและความเห็นเกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ปี 2012 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของ พณ. และหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 18 (The 18th APEC Minister Responsible for Trade Meeting) ซึ่งสหพันธรัฐรัสเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2555 ณ เมืองคาซาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การสนับสนุนการเจรจาการค้ารอบโดฮาและต่อต้านการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ออกแถลงการณ์ (Stand-alone Statement) เรื่อง “ Supporting the Multilateral Trading System and Resisting Protectionism” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 สนับสนุนการเจรจาพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) รอบโดฮา โดยปรับเปลี่ยนจากการเจรจาในรูปแบบเดิม ที่เน้นการเจรจาแบบ Single Undertaking ซึ่งจะต้องตกลงกันได้ทุกเรื่อง เปลี่ยนมาสนับสนุนการเจรจาในรูปแบบใหม่ ๆ (different, fresh, and credible negotiating approaches) เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำให้สามารถเจรจาตกลงกันได้มากขึ้น โดยมุ่งหวังให้การเจรจารอบโดฮาสามารถมีผลลัพธ์และประสบผลสำเร็จได้ต่อไป

1.2 ต่อต้านการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionism) โดยยืนยันความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามปฏิญญาผู้นำเอเปค ปี 2554 (ค.ศ. 2011) ที่จะไม่ออกมาตรการใหม่ ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน ทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการไม่ออกข้อจำกัดใหม่ในด้านการส่งออก และไม่ใช้มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ไปจนถึงปี 2558 (ค.ศ. 2015)

2. การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการขยายการค้า (Trade and Investment Liberalization , Regional Economic Integration)

2.1 การทบทวนเป้าหมายโบกอร์ ที่ประชุมยืนยันความมุ่งมั่นต่อการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และยินดีต่อความคืบหน้าในการมุ่งสู่เป้าหมายโบกอร์ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้เกิดความตกลงการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia — Pacific : FTAAP) ในอนาคต สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าควรมี Roadmap ที่ชัดเจนเพื่อมุ่งสู่ FTAAP และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรของสมาชิก “Capacity Building Needs Initiative” เพื่อรองรับการเจรจา FTAAP ในอนาคตต่อไป

2.2 ประเด็นการค้าการลงทุนมิติใหม่ (Next Genertation Trade and Investment Issues : NeGTI) ที่ประชุมให้การรับรองข้อเสนอของรัสเซีย เรื่องความโปร่งใสภายใต้ความตกลงทางการค้า (Transparency in Trade Agreements) เป็นประเด็นการค้าการลงทุนมิติใหม่ สำหรับปี 2555 (ค.ศ. 2012) และขอให้เจ้าหน้าที่เพิ่มเติมความเข้มข้นของการทำงานในประเด็น NeGTI ที่จะนำไปหารือหรือเพิ่มเติมในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในเอเชีย — แปซิฟิค (Free Trade Area of Asia - Pacific : FTAAP) ในอนาคต และรายงานความคืบหน้าในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting : AMM) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน ศกนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของรัสเซียเรื่องความโปร่งใสภายใต้ความตกลงทางการค้าที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเด็น NeGTI โดยกล่าวว่า ปัจจุบันมีความตกลงการค้าที่ใช้บังคับอยู่มากกว่า 300 ฉบับ ความโปร่งใสจะเป็นกลไกสำคัญช่วยให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า นอกจากนี้ เห็นว่าความโปร่งใสจะช่วยส่งเสริมกระบวนการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

2.3 การจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปค ตามมติของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อปี 2554 (ค.ศ. 2011) ระบุให้ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) ให้สมาชิกจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคที่มีผลกระทบโดยตรงในเชิงบวกต่อการสนับสนุนเป้าหมายการเจริญเติบโตสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเปค เพื่อนำมาลดภาษีลงเหลือร้อยละ 5 หรือต่ำกว่าภายในสิ้นปี 2558 ที่ประชุมจึงได้มีมติให้สมาชิกอุทิศทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดในการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมฯ ภายในการประชุม AMM 2012 เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของผู้นำฯ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ที่เม็กซิโก ซึ่งการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปค จะไม่กระทบต่อท่าทีการเจรจาเรื่องนี้ ของสมาชิกภายใต้ WTO

3. การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Strengthening Food Security) ที่ประชุมกล่าวยินดีต่อความสำเร็จของรัฐมนตรีความมั่นคงทางอาหารของเอเปคในการจัดทำปฏิญญาคาซานว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร (Kazan Declaration on APEC Food Security) และจะให้การสนับสนุนเพื่อมุ่งเป้าหมายการเพิ่มการลงทุนและผลผลิตด้านการเกษตร การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการพัฒนาตลาดอาหาร การเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร การส่งเสริมการจัดการระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนและต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และการปรับปรุงการเข้าถึงอาหารให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมรวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในภาคการเกษตรและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนโดยการกระตุ้นการลงทุนและนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ โดยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนระยะยาวในภาคการเกษตร และเห็นว่าภาครัฐควรมีบทบาทในการสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับชาวไร่/ชาวนาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมทั้งรับทราบความจำเป็นในการมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนในภาคการเกษตร การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนการเพิ่มความโปร่งใส และการลดอุปสรรคการลงทุนในภาคเกษตรกรรม

4. การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ (Establishing Reliable Supply Chain) เพื่อปรับปรุงสมรรถนะห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Performance) ให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยการลดต้นทุน ระยะเวลา และความไม่แน่นอน ในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการภายในภูมิภาค และยืนยันว่าการดำเนินการในด้านนี้จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเปค ตลอดจนสนับสนุนการเจริญเติบโตและความรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเปค รวมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสมรรถนะห่วงโซ่อุปทาน เช่น การมีเส้นทางห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย (Diversification of Supply Chain Routes) เพื่อลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อห่วงโซ่อุปทานอัจฉริยะ (Intelligent Supply Chains) ซึ่งจะสามารถช่วยบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ได้ดีขึ้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสามารถติดตามสินค้าได้แม่นยำมากขึ้น

ในการนี้ ประเทศไทยได้กล่าวสนับสนุนและผลักดันให้เอเปคดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์กับ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาให้ SMEs เข้มแข็ง และการสนับสนุนให้ SMEs เข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทาน เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของโลกในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วน และอาหาร การดำเนินการของเอเปคในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์กับ SMEs ของไทยด้วย

5. ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของนวัตกรรม (Intensive Cooperation to Foster Innovative Growth)

ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเปค และเห็นชอบให้มีการประชุม “Chief Science Advisors” ของสมาชิกเอเปค ในปี 2556 (ค.ศ. 2013) เพื่อให้เกิดเครือข่ายและหารือในประเด็นวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของเอเปค รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการหารือเรื่องนโยบายด้านนวัตกรรมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมในภูมิภาคเอเปค และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของภาคธุรกิจและภาคการศึกษาโดยการจัดตั้ง “Policy Partnership on Innovation” หรือ PPI ต่อไป นอกจากนี้ ตระหนักถึงบทบาทของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเป็นแหล่งนวัตกรรมและความคิดก้าวหน้า โดยเน้นความสำคัญของการลดอุปสรรคการค้าและการลงทุนสำหรับ SMEs และสนับสนุน SMEs ให้มีนวัตกรรมในสาขาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green sectors) รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ( Young Entrepreneurs Network : YEN) ซึ่งการประชุม YEN ครั้งแรกมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

6. การหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับแคนาดา

ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการหารือทวิภาคีกับ Mr.Ed Fast, Minister of International Trade and Minister for the Asia-Pacific Gateway ประเทศแคนาดา สรุปได้ ดังนี้

แคนาดา เสนอจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย โดยเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน การทำ FTA ระหว่างกันได้ จะทำให้การค้าของทั้งสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเห็นว่าไทยสามารถเป็นฐานในการขยายการค้าและการลงทุนของแคนาดาสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน (อีก 9 ประเทศ) ได้

ไทย แจ้งว่าให้ความสำคัญกับแคนาดา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดในภูมิภาคอเมริกาอันดับต้น ๆ ของไทย และเห็นด้วยกับแคนาดาว่า ทั้งสองประเทศยังมีโอกาสที่จะขยายการค้าระหว่างกันได้อีกมาก จึงเห็นว่าในชั้นนี้อาจเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน

7. ข้อคิดเห็นของ พณ. สรุปได้ดังนี้

7.1 การเจรจาใน WTO รอบโดฮาได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 11 ปีแล้ว และขณะนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 155 ประเทศ ซึ่งการเจรจาตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ใน WTO จะใช้ระบบฉันทามติ (consensus) ทำให้การเจรจามีความล่าช้ามาก ดังนั้น กลุ่มประเทศพัฒนาและใน WTO ที่เป็นสมาชิกเอเปค เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐ ฯ หันมาใช้เวทีเอเปค ซึ่งมีสมาชิกเพียง 21 เขตเศรษฐกิจ ในการผลักดันให้การเจรจาเรื่องต่าง ๆ มีความคืบหน้าก่อน จากนั้นจึงนำไปผลักดันในเวที WTO ต่อไป เช่น การผลักดันให้มีการเจรจาขยายขอบเขตสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement : ITA) และการผลักดันให้สินค้าใช้แล้วที่นำมาผลิตใหม่ (Remanufactured Products) ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับสินค้าใหม่ เป็นต้น

7.2 เอเปคได้ดำเนินการเพื่อผลักดันการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อมุ่งเป้าหมายระยะยาวของการเจรจาความตกลง FTAAP ในอนาคตการเจรจาเรื่องต่าง ๆ จึงมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปค การคัดเลือกประเด็นการค้าการลงทุนมิติใหม่ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมนโยบายนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด เป็นต้น

7.3 ประเด็นเรื่องการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปค เพื่อนำมาลดภาษีให้เหลือร้อยละ 5 หรือต่ำกว่า ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) เป็นประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากสมาชิกมีท่าทีที่แตกต่างกัน ระหว่างสองขั้วใหญ่ ได้แก่ จีนกับสหรัฐฯ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ระดับเจ้าหน้าที่หารือเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายให้จัดทำรายการสินค้า ฯ ให้เสร็จก่อนการประชุมผู้นำเอเปค ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ที่เมือง วลาดิวอสต๊อก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ