การรับรองร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 9

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2012 11:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 9 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ

สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ

ร่างปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศจะให้การรับรองในระหว่างการประชุม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสาระสำคัญของร่างปฏิญญาดังกล่าวจะประกอบด้วย หัวข้อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่

1. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตรูปแบบใหม่

ความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเขตเศรษฐกิจเอเปคโดยตระหนักถึงเป้าหมาย บริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึงในภูมิภาคเอเปคภายในปี พ.ศ. 2558 และเป้าหมายการมุ่งสู่เทคโนโลยียุคหน้า การขยายบรอดแบนด์ความเร็วสูงในปี พ.ศ. 2563 เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้ในภูมิภาคเอเปค การเริ่มนำบรอดแบนด์ไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ Internet Protocol เวอร์ชั่น 6 (IPv6) การเสริมสร้างโอกาสสำหรับประชาชนและธุรกิจในการเข้าถึงบริการสาธารณะผ่านบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐโดยเน้นบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ลอจิสติกส์ สุขภาพ การเงิน การศึกษาและความมั่นคงปลอดภัย

2. การเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

การตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมสำหรับผู้พิการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการดำเนินยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไอซีทีเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น การตระหนักถึงปฏิญญาของผู้นำในปี พ.ศ. 2550 โดยใช้ไอซีทีแก้ปัญหาความท้าทายในระดับโลก เช่น ปัญหาขาดแคลนพลังงานและทรัพยากร อื่น ๆ รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ บริการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ บริการสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาไอซีทีและส่งเสริมระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงการตอบสนองต่อภัยพิบัติและการฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติ

3. การส่งเสริมความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

การสร้างความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนความโปร่งใสของกลไกการบริหารสำหรับบริการสื่อสาร การตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้โดยใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถปฏิบัติร่วมกันโดยการทำให้กฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มีความสอดคล้องกันเพื่อเกิดความปลอดภัยในการส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แก่เยาวชนและผู้ปกครอง

4. การสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนด้านไอซีที การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกการเปิดตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรมในภูมิภาคเอเปค การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการกำกับดูแลที่ส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในตลาด การไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส การสนับสนุนแนวความคิดเรื่องการลดค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามแดน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการปฏิบัติที่ดี โดยเฉพาะการใช้ไอซีทีในการแก้ไขผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในสาขาอื่น ๆ

5. การเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเปคยังคงเป็นประเด็นความท้าทายในการใช้ไอซีทีเพื่อเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ การสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงสารสนเทศโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับการประชุมเอเปคสาขาอื่น ๆ และเพิ่มการประสานงานของกิจกรรมที่เกี่ยวกับไอซีที รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (APT) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ