ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2012 11:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ครั้งที่ 1 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบูรณาการผลการดำเนินงานของหน่วยงานและรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. เสนอเรื่อง ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ครั้งที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การนำเสนอของหัวหน้าส่วนราชการ

การนำเสนอของหัวหน้าส่วนราชการ จำแนกหน่วยงานตามภารกิจที่สอดรับกับประชาคมอาเซียน 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ประชาคมการเมืองและความมั่นคง และภารกิจของหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

1.1 ประชาคมเศรษฐกิจ

1) หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม

(1) ผลกระทบเชิงลบ ที่สำคัญ เช่น การแข่งขันทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เกิดการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนและแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โรคระบาดสัตว์ มาตรการอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีเพิ่มขึ้น เกิดการแข่งขันเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

(2) ผลกระทบเชิงบวก ที่สำคัญ เช่น ตลาดมีขนาดใหญ่และหลากหลายสามารถรองรับผลผลิตที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ไทยสามารถเป็นประเทศผู้นำด้านมาตรฐานการผลิตและการจัดทำมาตรฐานอาเซียน จะทำให้ไทยมีวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน สามารถกระจายสินค้าไปประเทศนอกกลุ่มอาเซียน การเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินสะอาดในประเทศเพื่อนบ้านได้ในราคาที่ต่ำลง และกระจายความเสี่ยงที่มาของพลังงานได้มากขึ้น รวมทั้ง เพิ่มโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน

(3) ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น กำหนดมาตรการกฎระเบียบ เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เตรียมความพร้อมเกษตรกรเพื่อปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงานเกษตรเร่งรัดโครงการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งในประตูการค้าที่สำคัญของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเส้นทางที่จะเสริมสร้างศักยภาพโลจิสติกส์ภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีพลังงานทดแทน

1.2 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

1) หน่วยงานด้านสังคมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

(1) ผลกระทบเชิงลบ ที่สำคัญ เช่น ขาดระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานและบุตรของแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้น สตรี เด็กและเยาวชน และผู้พิการบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ และขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจเกิดการไหลออกของแรงงานบางสาขา ประชาชนมีความรู้ภาษาอังกฤษไม่เพียงพอทำให้ขาดโอกาสในการศึกษาต่อและการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม การดัดแปลงพันธุกรรม การเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการรั่วไหลของแหล่งพันธุกรรม

(2) ผลกระทบเชิงบวก ที่สำคัญ เช่น เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ในเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านวิชาการและงบประมาณ ประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาสูง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเข้าใจและความร่วมมือกันมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีโอกาสในการสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านภัยพิบัติระดับอาเซียน เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

(3) ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน พัฒนาฐานข้อมูลแรงงานทั้งในและนอกระบบ พัฒนาหลักสูตรการเรียน เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งจัดระบบการโอนหน่วยการเรียนในทุกระดับการศึกษา การผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เร่งส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจสีเขียว

1.3 ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

1) หน่วยงานด้านการเมืองและความมั่นคง ประกอบด้วย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม

(1) ผลกระทบเชิงลบ ที่สำคัญ เช่น เกิดปัญหาความมั่นคงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติดข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ เป็นต้น การขยายตัวของเมืองและการจัดการระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติแสวงประโยชน์จากการเปิดและเคลื่อนย้ายเสรี ทำให้การป้องกันและปราบปรามมีความยุ่งยากและซับซ้อน

(2) ผลกระทบเชิงบวก ที่สำคัญ เช่น มีกลไกความร่วมมือในการสร้างสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ การขยายตัวของการค้าชายแดนและเศรษฐกิจฐานราก เกิดความร่วมมือในระดับพื้นที่ในการพัฒนาตามแนวชายแดน และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมและพัฒนาตามกรอบอาเซียน

(3) ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น สนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งกองกำลังอาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเตรียมพร้อมทั้งกำลังพล งบประมาณ และการบริหารจัดการ การเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการพื้นที่ ส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับในระบอบการเมืองการปกครองของประเทศในประชาคมอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนการสร้างเครือข่าย และส่งเสริมธรรมาภิบาล พัฒนาบรรทัดฐานเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันทางการทหารและความมั่นคงอาเซียน โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางการจัดการพื้นที่ชายแดน

1.4 บทบาทหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

1) หน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(1) ผลกระทบเชิงลบ ที่สำคัญ เช่น ภารกิจในการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง มีความซับซ้อนและปริมาณงานเพิ่มขึ้น ความพร้อมของบุคลากรด้านภาษาและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนจากภารกิจที่เพิ่มขึ้น เครื่องมือและกลไกพื้นฐานของระบบราชการขาดความยืดหยุ่นและคล่องตัว ทำให้ขาดความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ค่านิยม วัฒนธรรม อาจสร้างการไม่ยอมรับ มีทัศนคติเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายปัจจุบันหลายฉบับไม่สอดคล้องกับพันธกรณี

(2) ผลกระทบเชิงบวก ที่สำคัญ เช่น ภาคราชการมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการปฏิบัติราชการกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติราชการ การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือต่าง ๆ จะก่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน

(3) ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น ปรับโครงสร้างและบทบาทของสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยยุทธศาสตร์ของประเทศ จัดทำแผนแม่บทการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการให้แก่ส่วนราชการ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างองค์กรและกำลังคนในระบบราชการ การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับภารกิจ การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ

2. การดำเนินการในระยะต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป รวม 6 เรื่อง โดยมีกรอบเวลาในการดำเนินการแต่ละเรื่อง ดังนี้

2.1 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปแผนงาน/โครงการหลักและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในแต่ละ 3 เสาหลัก และวิเคราะห์ภาพรวมความพร้อม/ไม่พร้อม และความได้เปรียบ/เสียเปรียบในการแข่งขันในแต่ละด้าน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ ดังนี้

1) ด้านเศรษฐกิจ มอบหมาย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นเจ้าภาพหลัก

2) ด้านสังคมและวัฒนธรรม มอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพหลัก

3) ด้านการเมืองและความมั่นคง มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลัก

2.2 มอบหมายกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพการเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทยใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย (1) การขนส่ง (2) การท่องเที่ยว รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ (3) การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ให้พิจารณาในประเด็นเฉพาะควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องการพัฒนาด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์

2.3 มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยวางแผนกำลังคนทั้งระบบ ครอบคลุมทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ และภาคการผลิตและบริการ ทั้งในส่วนของจำนวนความต้องการ และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และภาษาทักษะด้านภาษา โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์

2.4 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นเจ้าภาพหลัก ในการพัฒนาขีดความสามารถของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อบูรณาการความพร้อมของ 3 เสาหลัก โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโต รวมทั้งการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อการส่งออก โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์

2.5 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชน 5 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย

2.6 มอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการสนับสนุนการขับเคลื่อน 3 เสาหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการปฏิบัติงานในภาครัฐและการศึกษา การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษา (Call Center) ที่มีหลายภาษา จัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทย การให้บริการด้านกฎหมาย พลังงานและไฟฟ้าซึ่งเป็นทั้งสินค้าและปัจจัยสนับสนุน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาโดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ