แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2555 ระยะที่ 2(ช่วงเดือนพฤษภาคม — กันยายน 2555)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2012 11:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2555 ระยะที่ 2 (ช่วงเดือนพฤษภาคม — กันยายน 2555) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรเพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของการเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม — กันยายน 2555 ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ดังนี้

1. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วงมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 52 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 2.69 ล้านไร่ โดยช่วงเวลาในการเฝ้าระวังภัยคือเดือนมิถุนายน — กันยายน 2555 ซึ่ง กษ. ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงโดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงและฐานเติมสารฝนหลวงเพิ่มเติม รวมทั้งวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

2. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย จำนวน 59 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 6.75 ล้านไร่ และมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม จำนวน 52 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่รวม 4.34 ล้านไร่ โดย กษ. ได้ปรับแผนการดำเนินการภายใต้มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน รวมทั้งได้วางแผนเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Food Emergency) ด้วย

3. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาศตรูพืชระบาดได้จัดทำปฏิทินการระบาดของศัตรูพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และมะพร้าว

4. แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2555 แยกเป็น 1) แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง (ภัยแล้ง) 2) แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 สิงหาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ