สรุปรายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 21, 2012 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปรายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน — 6 กรกฎาคม 2555

ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย

คณะรัฐมนตรีทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน — 6 กรกฎาคม 2555ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของรายงานผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 สรุปได้ดังนี้

1. ที่ประชุมมีมติรับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) จำนวน 103 แหล่ง ทำให้ปัจจุบันมีแหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) จำนวน 1,541 แหล่ง จากรัฐภาคีจำนวน 168 ประเทศ

2. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย ที่ประชุมมีมติถอดถอนแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย 2 แห่ง คือ Fort and Shalamar Gardens in Lahore (Pakistan) และ Rice Terraces of the Philippine Cordilleras (Philippines) และเพิ่มเติมบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย 5 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีมรดกโลกในภาวะอันตราย จำนวน 38 แห่งใน 30 ประเทศ แบ่งออกเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติในภาวะอันตราย จำนวน 17 แหล่ง และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในภาวะอันตราย จำนวน 21 แหล่ง

3. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก ที่ประชุมมีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เป็นแหล่งมรดกโลก จำนวน26 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 20 แหล่ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 5 แหล่ง แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Sites) 1 แหล่ง ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ จำนวน 962 แหล่ง โดยแบ่งออกเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 745 แห่ง แหล่งมรดกทางธรรมชาติ 188 แห่ง และแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม 29 แห่ง ใน 157 ประเทศ จากรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งหมด 189 ประเทศ โดยมีรัฐภาคีที่มีแหล่งมรดกขึ้นทะเบียนเป็นครั้งแรกในการประชุมครั้งนี้ จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐชาด สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐปาเลา และรัฐปาเลสไตน์

4. การขอปรับเปลี่ยนชื่อแหล่งมรดกโลก จำนวน 4 แหล่ง ได้แก่

  • Los Glaciares (Argentina) เป็น Los Glaciares National Park (ภาษาอังกฤษ) และ Parc national

de Los Glaciares (ภาษาฝรั่งเศส)

  • Skellig Michael (lreland) เป็น Sceilg Mhichil (ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส)
  • Pueblo de Taos (United States of America) เป็น Taos Pueblo (ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส)
  • Samarkand-Crossroads of Cultures (Uzbekistan) เป็น Samarkand-Crossroad of

Cultures (ภาษาอังกฤษ)

5. ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกได้รายงานแผนการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกจำนวน 105 แหล่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทยคือการรายงานสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น — เขาใหญ่ ซึ่งราชอาณาจักรไทยได้ดำเนินการจัดส่งไปยังศูนย์มรดกโลกตามข้อมติการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งขอให้รัฐภาคีประสานขอรับความช่วยเหลือนานาชาติในการจัดการพื้นที่มรดกโลก ทั้งในด้านการพัฒนานโยบายการจัดการระยะยาวและการจัดการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ขอให้จัดส่งเอกสารข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางหลวงสาย 304 และเขื่อนห้วยโสมงและรายงานความก้าวหน้าสถานะการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น —เขาใหญ่ ถึงศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 (ค.ศ. 2012) ตามรูปแบบที่กำหนด นั้น

ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานดังกล่าว และได้ร้องขอให้ราชอาณาจักรไทยดำเนินการตามข้อเสนอแนะตามมติคณะกรรมการมรดกโลก โดยร่วมกับศูนย์มรดกโลก/IUCN Reactive monitoring mission (RM Mission) ในการปฏิบัติการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ราชอาณาจักรไทยเสนอรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งทรัพย์สินที่เป็นปัจจุบัน และรายงานความสำเร็จในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในปี พ.ศ. 2555 ต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อเสนอคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุม ครั้งที่ 37 ซึ่งคณะกรรมการฯ สามารถพิจารณาถึงความจำเป็นในการติดตามตรวจสอบต่อไป และความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินในภาวะอันตราย

6. เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินงานของยูเนสโกลดลงที่ประชุมจึงมีมติให้รัฐภาคีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยสมัครใจ (Voluntary) ของคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์กรที่ปรึกษาในกรณีที่จะต้องเดินทางไปเพื่อให้คำแนะนำในการเตรียมการ หรือการทบทวนการเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลก หรือกรณีที่จะต้องมีการประเมินหรือสำรวจแหล่งมรดกโลกตามมติคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว

7. การดำเนินงานของ Category 2 Centres ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การดำเนินงานร่วมด้านมรดกโลก (เพิ่มเติม) ในราชอาณาจักรสเปนและสาธารณรัฐอิตาลี ส่งผลให้ปัจจุบันมีศูนย์การดำเนินงานร่วมด้านมรดกโลก จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง

8. การเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 มีรัฐภาคีสมาชิกเสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม จำนวน 1 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 17-27 มิถุนายน 2556 ณ Peace Palace กรุงพนมเปญ โดยมี H.E. Mr Sok An (Cambodia) เป็นประธานการประชุม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 สิงหาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ