แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 — 2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 09:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 — 2559) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 — 2559) ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 25 กลยุทธ์ 160 มาตรการ โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยแล้ว สรุปได้ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 42 มาตรการ

2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบการเลี้ยง และสุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่า ให้ปลอดโรค ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์ 34 มาตรการ

3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ 20 มาตรการ

4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ 36 มาตรการ

5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 28 มาตรการ

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้การขับเคลื่อนและบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคส่วนอื่นอย่างเต็มศักยภาพ จึงได้วางแนวทางการขับเคลื่อนและบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ให้คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติเป็นกลไกระดับชาติในการขับเคลื่อน

2. ใช้กระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนในภาครัฐ โดยบูรณาการวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และมาตรการตามแผนยุทธศาสตร์เข้ากับภารกิจตามอำนาจ หน้าที่ และกฎระเบียบของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด

3. ใช้กระบวนการขับเคลื่อนกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกรอบความร่วมมือในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลไกเสริมการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ

4. รัฐบาลโดยคณะกรรมการอำนวยการฯ ตามข้อ 1 และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมบทบาทและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคมทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการดำเนินงานตามภารกิจของตนให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์

5. ใช้การจัดทำแผนประคองกิจการ (Bussiness Continuity Plan : BCP) เป็นกลยุทธ์เร่งรัดการเรียนรู้และพัฒนาบทบาทของหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่และภัยพิบัติต่าง ๆ

6. ใช้ระบบการติดตามและประเมินผลปฏิบัติราชการ เป็นกลไก กำกับ ติดตาม และประเมินผลการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ในภาครัฐ ส่วนการติดตามและประเมินผลในภาคส่วนอื่น ๆ สามารถทำได้โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือแหล่งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ