ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างเวียดนามและไทย ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 09:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างเวียดนามและไทย ครั้งที่ 1 เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะติดตามความคืบหน้าในด้านการปฏิบัติตามผลการประชุมฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องตามที่ พณ. เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee - JTC) ระหว่างเวียดนามและไทย ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10 — 12 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งเวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee - JTC) ระหว่างเวียดนามและไทย (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ณ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งเวียดนาม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และดร.วู เว เฮือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งเวียดนาม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนาม โดยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การประชุม JTC เวียดนาม — ไทย ครั้งแรก ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเวียดนามมีท่าทีตอบรับที่ดีและยินดีให้การสนับสนุนความร่วมมือกับฝ่ายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความร่วมมือข้าวระหว่างไทยและเวียดนาม ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับผู้ส่งออก และระดับชาวนา โดยยินดีให้ฝ่ายไทยเป็นผู้เสนอกลไกความร่วมมือเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ต้องการให้มีความร่วมมือด้านการผลิตข้าวด้วยนั้น เป็นประเด็นที่ไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการเกษตรที่เกี่ยวข้องในการผลิตข้าว อันเป็นองค์ความรู้ที่ส่งผลให้ไทยยังได้เปรียบในด้านการผลิตและการตลาด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยและเวียดนามมีความร่วมมือด้านเกษตรอยู่แล้วภายใต้กรอบ ACMECS โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ประสานงานฝ่ายไทย

2. ข้อเสนอการจัดตั้ง “สมาพันธ์โรงสีข้าวและผู้ค้าข้าวแห่งอาเซียน” และ “สมาพันธ์ผู้ค้ามันสำปะหลังแห่งอาเซียน” เวียดนามได้แสดงท่าทีสนใจแต่ขอนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรก่อน นอกจากนี้ ข้อเสนอการจัดตั้งสายด่วน (Hotline) ใน 3 ระดับ คือ ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดี แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย

3. เรื่องสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานต่อไปอย่างใกล้ชิด คือ ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

3.1 ความร่วมมือข้าวระหว่างไทยและเวียดนาม โดยใช้แนวทางความร่วมมือที่ได้เคยลงนามในกรอบ ACMECS เป็นฐานในการขยายรูปแบบความร่วมมือข้าว และอาจขยายไปครอบคลุมผู้ผลิตข้าวสำคัญอื่นในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ เพื่อสร้าง Impact ต่อประชาคมโลกในฐานะกลุ่มผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าสำคัญอื่น เช่น การรวมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของโอเปค และตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่มีความกังวลมากขึ้นในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร

3.2 การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในเวียดนาม โดยเวียดนามได้เชิญชวนให้เข้าไปลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานเพื่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแหล่งถ่านหินคุณภาพดีในจังหวัดกวางจิ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในสาขาดังกล่าวเช่นกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ