คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอและให้ส่งสำนักคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. ... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. บทนิยาม
กำหนดบทนิยาม “เรือ” “ท่าเรือ” “บุคคล” “เจ้าของเรือ” “นายเรือ” “น้ำมัน” “ความเสียหายจากมลพิษ” “มาตรการในการป้องกัน” “อุบัติการณ์” “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” “ภาคีแห่งอนุสัญญา” “ศาล” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่” (ร่างมาตรา 3)
2. หมวด 1 บททั่วไป
2.1 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับกับความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมถึงทะเลอาณาเขตและในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้มาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ดังกล่าว (ร่างมาตรา 5)
2.2 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับเรือรบ หรือเรืออื่นใดซึ่งรัฐถือกรรมสิทธิ์ หรือดำเนินการในกิจการของรัฐซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ใช้บังคับกับเรือของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาซึ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ (ร่างมาตรา 6)
3. หมวด 2 ความรับผิด
3.1 กำหนดให้เจ้าของเรือในขณะเกิดอุบัติการณ์ หรือในขณะเกิดเหตุการณ์ครั้งแรกในกรณีที่อุบัติการณ์ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อเนื่อง ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากมลพิษอันเป็นผลของอุบัติการณ์ดังกล่าว (ร่างมาตรา 7)
3.2 กำหนดให้เจ้าของเรือไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษหากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้น เป็นผลมาจากสงคราม การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ สงครามกลางเมือง การจลาจล หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ หรือเกิดขึ้นจากบุคคลที่สามทำให้เกิดความเสียหายนั้น หรือเกิดขึ้นทั้งหมดจากความประมาทเลินเล่อหรือการกระทำโดยมิชอบของรัฐหรือหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลหรือบำรุงรักษาประภาคารหรือเครื่องช่วยการเดินเรืออื่น ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว (ร่างมาตรา 9)
3.3 กำหนดให้เจ้าของเรืออาจหลุดพ้นจากความรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของบุคคลที่ได้รับความเสียหายนั้น (ร่างมาตรา 10)
3.4 กำหนดให้เจ้าของเรือมีสิทธิจะจำกัดความรับผิดของตนภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้สำหรับอุบัติการณ์ครั้งหนึ่ง ๆ แต่เจ้าของเรือไม่อาจจำกัดความรับผิดของตนได้หากพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายจากมลพิษนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของเจ้าของเรือเป็นส่วนตัว (ร่างมาตรา 12 และมาตรา 14)
4. หมวด 3 การประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงิน
4.1 กำหนดให้เรือไทยซึ่งได้บรรทุกน้ำมันในระวางอย่างสินค้าเกินกว่า 2,000 ตันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองที่แสดงถึงการจัดหาประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินเพื่อให้เพียงพอต่อความรับผิดสำหรับ ความเสียหายจากมลพิษ การจัดหาประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 15)
4.2 กำหนดให้กรมเจ้าท่ามีอำนาจออกใบรับรองให้แก่เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทย (ร่างมาตรา 16)
4.3 กำหนดให้เรือต่างประเทศไม่ว่าจะจดทะเบียนในรัฐใดซึ่งได้บรรทุกน้ำมันในระวาง อย่างสินค้าเกินกว่า 2,000 ตันขึ้นไป และไม่มีใบรับรองของกรมเจ้าท่า เมื่อเรือนั้นได้ผ่านหรือเข้าออกทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ต้องมีใบรับรองซึ่งออกโดยพนังงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญา (ร่างมาตรา 19)
5. หมวด 4 การวางหลักประกัน
5.1 กำหนดให้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของเรือในการจำกัดความรับผิดภายหลังเกิดอุบัติการณ์ขึ้นแล้ว เจ้าของเรือต้องวางหลักประกันตามจำนวนความรับผิดที่จำกัดแล้วทั้งหมดต่อศาล โดยจะวางเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือหลักประกันอื่นใดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ตามที่ศาลเห็นสมควร ผู้รับประกันหรือบุคคลอื่นใดที่ได้ให้หลักประกันแก่เจ้าของเรือมีสิทธิที่จะวางหลักประกันโดยให้มีผลเช่นเดียวกับเจ้าของเรือเป็นผู้วางหลักประกันนั้นเอง (ร่างมาตรา 21 และร่างมาตรา 22)
5.2 กำหนดให้นำเงินจากหลักประกันมาชำระให้แก่บรรดาผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษตามส่วนแห่งสิทธิที่ได้พิสูจน์ในศาลแล้ว (ร่างมาตรา 24)
6. หมวด 5 การดำเนินคดีและอายุความ
กำหนดให้การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษอาจเรียกร้องได้โดยตรงจากผู้รับประกันภัยหรือผู้ให้หลักประกันทางการเงินเพื่อความรับผิดสำหรับความเสียหายจากมลพิษของเจ้าของเรือ ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่ความเสียหายจากมลพิษได้เกิดขึ้น หรือเมื่อพ้นหกปีนับแต่วันที่อุบัติการณ์ได้เกิดขึ้น หรือวันที่เหตุการณ์ครั้งแรกได้เกิดขึ้นในกรณีที่อุบัติการณ์ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อเนื่อง (ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 33)
7. หมวด 6 เขตอำนาจศาล
7.1 กำหนดให้ศาลมีอำนาจเหนือคดีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ศาลจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ต่อเมื่อมีการส่งหมายเรียกให้แก่จำเลย โดยชอบและให้โอกาสตามสมควรสำหรับการต่อสู้คดี และให้รวมถึงอำนาจในการเฉลี่ยเงินจากหลักประกันให้แก่ ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วย (ร่างมาตรา 34)
7.2 กำหนดให้คำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับความเสียหายจากมลพิษของศาลต่างประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาให้ใช้บังคับในประเทศไทยได้ เว้นแต่คำพิพากษานั้นได้มาโดยกลฉ้อฉล จำเลยมิได้รับหมายเรียกโดยชอบและไม่มีโอกาสตามสมควรในการต่อสู้คดี หรือคำพิพากษานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ร่างมาตรา 35)
8. หมวด 7 บทกำหนดโทษ
8.1 กำหนดให้เรือไทยหรือเรือต่างประเทศที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ นายเรือและเจ้าของเรือลำนั้นต้องระวางโทษปรับคนละไม่เกินสองล้านบาทและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน่วงเหนี่ยวเรือลำดังกล่าวจนกว่าเรือลำนั้นจะได้แก้ไขหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 36)
8.2 กำหนดให้นายเรือลำใดไม่อาจแสดงใบรับรองตามที่กำหนดเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท (ร่างมาตรา 38)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กันยายน 2555--จบ--