การดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย — เมียนมาร์ (พ.ศ. 2555 — 2561)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2012 10:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. กรอบโครงการพัฒนาทาเงลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ไทย — เมียนมาร์ ระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2555 — 2561)

2. กรอบวงเงินงบประมาณในเบื้องต้นสำหรับดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย — เมียนมาร์ ระยะเวลา 6 ปี จำนวน 350 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย — เมียนมาร์เป็นโครงการยุทธศาสตร์ ซึ่งใช้แนวทางการพัฒนาเป็นตัวนำในการสร้างทางเลือกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่พึ่งพารายได้จากยาเสพติด เป็นการนำบทเรียนที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทยไปใช้ในเมียนมาร์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและมีความจริงใจที่จะให้ความช่วยเหลือเมียนมาร์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขต้นตอแห่งปัญหา เนื่องจากสถานการณ์และการแก้ไขปัญหายาเสพติดของเมียนมาร์ส่งผลโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของรัฐบาลพม่าที่มีต่อรัฐบาลไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

2. เพื่อลดปัญหาเรื่องยาเสพติด อาชาญากรรม แรงงานเถื่อนผู้อพยพผิดกฎหมาย และเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย — พม่าอย่างมีประสิทธิผลภายใต้แนวคิด “รั้วชายแดน”

3. เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและบรรเทาความยากจนของประชากรในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนสนับสนุนชุมชนเป้าหมายในระยะยาว ให้มีรายได้ที่มั่นคงและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่โดยเน้นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตแก่ชุมชนเป้าหมายที่จะช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องดำรงชีพโดยทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น การปลูกฝิ่น การตัดไม้ เป็นต้น

4. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนโครงการของรัฐบาลพม่าในด้านการพัฒนาสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมของประชากรในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของประชากรในพื้นที่ในด้านสุขภาพ การเกษตร ปศุสัตว์ ชลประทาน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

5. เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างมีบูรณาการและรอบด้าน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นการมีส่วนร่วม สะท้อนความต้องการของชุมชนในพื้นที่ และความเป็นเจ้าของระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับในท้องถิ่น ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และประเมินผลประโยชน์ต่อประชาชนตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นได้ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กันยายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ