ผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมช่วงเดือนกรกฎาคม — ธันวาคม พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 11:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมช่วงเดือนกรกฎาคม — ธันวาคม พ.ศ. 2554 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (Thailand International Health Policy Program: IHPP) และภาคี (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน Unicef และ World Health Organization) ได้ดำเนินการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งเป็นผลกระทบจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 โดยทำการสำรวจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม 61 จังหวัด ช่วงเดือนกรกฎาคม — ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งมีครัวเรือนที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 36,910 ราย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ — 21 มีนาคม 2555 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใน 61 จังหวัด โดยมีครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวรวม 5.3 ล้านครัวเรือนหรือ 17.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีครัวเรือนถูกน้ำท่วมร้อยละ 73.7 โดยเป็นน้ำท่วมตัวบ้านร้อยละ 45.6 และท่วมบริเวณรอบๆตัวบ้านอย่างเดียวร้อยละ 28.1

2. ความรุนแรงของน้ำท่วม โดยพิจารณาจากระยะเวลาและความสูงของน้ำท่วม พบว่า น้ำท่วมขังในและรอบๆบริเวณบ้านเฉลี่ย 25 — 27 วัน และน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 87 — 88 ซม. โดยครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 30 วัน และสูงกว่า 120 ซม. พบในกรุงเทพมหานครและภาคกลางมากกว่าภาคอื่น ทั้งนี้อาจเนื่องจากภาคเหนือเป็นทางไหลผ่านของน้ำมายังกรุงเทพมหานครและภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท

3. ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57.1) มีการเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม เช่น การยกของขึ้นที่สูงซึ่งทำได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อย (ร้อยละ 48.8) สำหรับการกั้นถุงทรายการสำรองของกินของใช้ และการป้องกันพาหนะเสียหาย มีประมาณร้อยละ 17 — 30 โดยมีข้อสังเกตว่า ครัวเรือนที่มีการย้ายสวิทซ์/ปลั๊กไฟขึ้นที่สูงมีน้อยมากเพียงร้อยละ 5.5 และมีการเตรียมการด้านการเจ็บป่วยประมาณร้อยละ 16 เช่น การเตรียมยาสามัญ อุปกรณ์การปฐมพยาบาล และยารักษาโรคประจำตัว จากการสำรวจ พบว่า รายได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเตรียมตัว โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะมีการเตรียมตัวมากกว่า โดยครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเฉลี่ยในช่วงก่อนน้ำท่วม 5,904 บาท และช่วงน้ำท่วม 8,419 บาท

4. ในช่วงน้ำท่วม เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมในการเอาชีวิตรอด ซึ่งจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานบางอย่าง เช่น การว่ายน้ำ พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น มีเพียงร้อยละ 18.6 ที่ว่ายน้ำได้ตามมาตรฐานสากล(ว่ายน้ำขึ้นตลิ่งฝั่งตรงข้ามที่มีระยะทาง 25 เมตรได้ ในขณะสวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ) ส่วนผู้ที่ว่ายน้ำได้น้อยกว่า 25 เมตร มีร้อยละ 26.4 (ระยะทางเฉลี่ย 8.49 เมตร) และมีเพียงร้อยละ 3.7 ที่ช่วยเหลือตัวเองได้แค่เพียงลอยคอ/พยุงตัวในน้ำได้ (เวลาเฉลี่ยนาน 10 นาที) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อม เช่น การจัดหลักสูตรว่ายน้ำในโรงเรียนเพื่อลดความสูญเสีย เพราะมีข้อสังเกตว่าเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีว่ายน้ำได้น้อยมาก

5. ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 72.7 ได้รับการแจ้งข้อมูลข่าวสารเฝ้าระวังก่อนที่น้ำจะท่วม และในช่วงน้ำท่วมมีผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมอพยพออกไปอยู่ที่อื่นร้อยละ 18.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอพยพทั้งครัวเรือน (ร้อยละ 15.2) โดยอพยพออกไปเฉลี่ยนานกว่า 1 เดือน (39 วัน) สำหรับผู้ที่ไม่อพยพให้เหตุผลว่ายังอาศัยอยู่ได้ เป็นห่วงบ้าน/ทรัพย์สิน คิดว่าท่วมไม่นาน/ไม่ท่วม ไม่มีที่ไป/ไม่มีเงิน และมีคนชรา/เด็ก/คนป่วย/คนพิการ เป็นต้น และมีข้อสังเกตว่าการอพยพของครัวเรือนขึ้นอยู่กับประสบการณ์น้ำท่วม คือ ถ้ามีประสบการณ์มากจะมีอัตราการอพยพน้อยลง

6. สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม ดังนี้

1) การทำงานแบบเต็มเวลาของสมาชิกในครัวเรือนหลังน้ำท่วม ลดลงจากก่อนน้ำท่วมร้อยละ 5.8 ขณะที่การทำงานแบบไม่เต็มเวลา และการตกงานเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 4.1 และ 1.7 ตามลำดับ) ซึ่งทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในทุกภาคลดลงจากช่วงก่อนน้ำท่วมประมาณร้อยละ 10

2) ครัวเรือนมีการสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพหรือกิจการขาดทุนที่เกิดจากน้ำท่วมเฉลี่ย 12,230 บาท และ 9,871 บาท ตามลำดับ และพบว่า สาเหตุหลักเนื่องจากการหยุดขาย/หยุดประกอบการ (ร้อยละ 65 — 76) และสินค้าเสียหาย (ร้อยละ 15 — 22) ตามลำดับ ครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีการสูญเสียโดยเฉลี่ยมากกว่าภาคอื่นหลายเท่า

3) ทรัพย์สินในครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม เช่น ที่อยู่อาศัย มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 12,574 บาท รถยนต์/รถจักยานยนต์ 8,268 บาท เครื่องใช้/สิ่งอำนวยความสะดวก 5,281 บาท และอุปกรณ์การประกอบอาชีพ 3,592 บาท โดยกรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีมูลค่าความเสียหายมากกว่าภาคอื่น

4) มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วม ร้อยละ 8.1 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุหนึ่งเนื่องจากไฟฟ้าดูด/ช๊อต

5) ช่วงน้ำท่วม มีผู้ไปใช้บริการทางการแพทย์ร้อยละ 15.3 โดยร้อยละ 10.2 ไปใช้บริการได้ตามปกติ ร้อยละ 3.9 ใช้บริการจากหน่วยเคลื่อนที่ และร้อยละ 1.2 ที่ไม่สามารถเข้ารับบริการได้ตามปกติ ซึ่งผู้ไปใช้บริการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.5) ให้ความเห็นว่าการบริการเหมือนเดิม ร้อยละ 18.3 เห็นว่าดีกว่าปกติ และ ร้อยละ 5.2 เห็นว่าแย่ลงโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเห็นว่าแย่ลงถึงร้อยละ 17.3

6) มีครัวเรือนประสบปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยร้อยละ 32.3 และการกำจัดสิ่งปฏิกูล (ปัสสาวะ อุจจาระ) ร้อยละ 24.2

7. การติดต่อขอความช่วยเหลือบริการทางการแพทย์ ช่องทางที่ครัวเรือนทราบมากที่สุด คือ รถฉุกเฉินเช่น รถ อบต./โรงพยาบาล/มูลนิธิ (ร้อยละ 55.0) รองลงมาได้แก่ สายด่วน 1669 (ร้อยละ 47.3) ขณะที่เรือและเฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินมีผู้ทราบน้อยมาก (ร้อยละ 17.0 และ 9.1 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมากกว่านี้

8. ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าร้อยละ 80 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในทุกเรื่อง ได้แก่ การป้องกันและกู้เส้นทางสายหลักเพื่อใช้ในการคมนาคม (ร้อยละ 87.0) การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม (ร้อยละ 86.5) การใช้แรงดันเรือ/เครื่องในการดันน้ำ (ร้อยละ 85.8) การปรับปรุงสาธารณูปโภค (ร้อยละ 85.6) การระบายน้ำออกจากพื้นที่และการใช้ถุงทราย/คันกั้นน้ำชะลอการไหลของน้ำเข้าท่วมพื้นที่ (ร้อยละ 84.9) และการควบคุมการเปิด — ปิดประตูระบายน้ำ (ร้อยละ 84.1) โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่พอใจปานกลาง - มาก ร้อยละ 57.6 — 64.6

9. ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเห็นว่าสิ่งของที่ควรบรรจุอยู่ในถุงยังชีพมากที่สุด คือ อาหารกระป๋อง(ร้อยละ 96.1) น้ำดื่ม(ร้อยละ 94.6) ข้าวสาร(ร้อยละ 94.5) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 86.9) ยาสามัญประจำบ้าน (ร้อยละ 82.0) ไฟฉาย(ร้อยละ 70.3) และนมกล่อง (ร้อยละ 51.0) ส่วนอื่นๆ เช่น นมผง ผ้าอนามัย ฯลฯ มีไม่เกินร้อยละ 45

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ