การพิจาณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2555 (กรณีพิเศษ) ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 11:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดดีเด่น ในอัตราไม่เกิน 11,683 คน ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดดีเด่นไม่เกินร้อยละ 2.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง จำนวน 394,821 คน คิดเป็นอัตราไม่เกิน 9,870 คน

2. ให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดดีเด่นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 362,744 คน คิดเป็นอัตราไม่เกิน 1,813 คน

3. ในกรณีของผู้ที่เงินเดือนเต็มขั้นให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด

ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดในโอกาสแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เป็นลำดับต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ รายงานว่า

1. รัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ” และยกระดับเป็น “วาระแห่งภูมิภาค” ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือผนึกกำลังและบูรณาการการดำเนินงานโดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เป็นยุทธศาสตร์หลักของการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โดยมุ่งการผนึกกำลังความสามัคคีของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดให้ได้โดยเร็วซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประชาชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในระดับที่สูงขึ้น

2. เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงกำหนดให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงความสงบสุขของประชาชน และสังคมให้ได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยแบ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินอาชนะยาเสพติดใน 7 แผนงาน ดังต่อไปนี้

2.1 แผนงานที่ 1 การสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด

2.2 แผนงานที่ 2 การแก้ไขปัญหาผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติด

2.3 แผนงานที่ 3 การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด

2.4 แผนงานที่ 4 การปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย

2.5 แผนงานที่ 5 ความร่วมมือระหว่างประเทศ

2.6 แผนงานที่ 6 การสกัดกั้นยาเสพติด 2.7 แผนงานที่ 7 การบริหารจัดการแบบบูรณาการ

3. การใช้กำลังพลภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่ครอบคลุมการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยจำแนกประเภทกำลังพลที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

3.1 กำลังพลประเภทที่ 1 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านยาเสพติดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยตรง มีโครงสร้างงานด้านยาเสพติดชัดเจน มีบทบัญญัติของกฎหมาย หรือเป็นผู้ได้รับคำสั่งมอบหมายให้ฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นลายลักษณ์อักษร และมีรายชื่อเจ้าหน้าที่อยู่ในทะเบียนกำลังพล ด้านยาเสพติด ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลกำลังพลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีจำนวน 394,821 คน โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาจำนวนที่ได้รับความดีความชอบพิเศษในอัตราไม่เกิน ร้อยละ 2.5 หรือคิดเป็นจำนวนกำลังพลที่จะได้รับความดีความชอบพิเศษจำนวน 9,870 อัตรา

3.2 กำลังพลประเภทที่ 2 เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มีภารกิจงานด้านยาเสพติดโดยตรง แต่มีภารกิจด้านอื่นเป็นภารกิจหลัก โดยลักษณะงานหลักดังกล่าว มีภารกิจที่เกื้อกูลต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จากการสำรวจกำลังพลประเภทดังกล่าวพบว่ามี 7 กระทรวง / หน่วยงาน ที่มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก และกองทัพเรือ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลกำลังพลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีจำนวน 362,744 คน โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาจำนวนที่ได้รับความดีความชอบพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 หรือคิดเป็นจำนวน 1,813 อัตรา

ทั้งนี้ เมื่อรวมทั้ง 2 ประเภทแล้ว เป็นจำนวนผู้ได้รับบำเหน็จความดีความชอบพิเศษฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับจำนวนบำเหน็จความชอบประจำปี 2552-2554 ที่ได้รับอนุมัติให้จัดสรร จำนวน 12,603 และ 9,566 และ 9,649 อัตรา ตามลำดับ

4. คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับความดีความชอบประจำปีกรณีพิเศษ ต้องเป็นบุคคลที่มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดชัดเจน เป็นที่ประจักษ์และในการพิจารณาบุคคลให้ได้รับบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทและเสียสละอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงได้กำหนดคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับความดีความชอบพิเศษ ทั้งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานและคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งกำหนดแนวทางการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2555

5. การดำเนินการเลื่อนเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้สมควรได้รับบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

5.1 ข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ นอกเหนือยจากโควตาปกติของข้าราชการพลเรือนสามัญใหม่ โดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติอีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนในแต่ละครึ่งปี ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติกับการเลื่อนกรณีพิเศษแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ

5.2 ข้าราชการตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการที่ยังใช้ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบขั้นเงินเดือน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเดิมคือเมื่อรวมกับขั้นในกรณีปกติกับขั้นที่ได้รับการพิจารณาบำเหน็จกรณีพิเศษรวมแล้วให้ได้สองขั้น สำหรับกรณีผู้ที่เงินเดือนเต็มขั้น หากได้รับค่าตอบแทนพิเศษในรอบการพิจารณาใดไม่ถึงร้อยละ 4 ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษเป็นร้อยละ 4 โดยให้เบิกจ่ายมีระยะเวลา 6 เดือน

6. ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม (หนังสือศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 1122/16273 ลงวันที่ 18 กันยายน 2555) ว่า งบประมาณในการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2555 (กรณีพิเศษ) ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด เหมือนกับทุก ๆ ปีที่ผ่านมา โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของส่วนราชการต้นสังกัดในโอกาสแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการเป็นลำดับต่อไป แต่จากหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานส่วนใหญ่ใช้งบประมาณส่วนราชการต้นสังกัดแทบทั้งสิ้น การขอใช้งบกลางจะเป็นส่วนน้อย และตามที่ได้เสนอให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2555 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด จำนวน 11,683 อัตรา ได้ใช้ฐานคำนวณเฉลี่ยประมาณการในอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 500 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่คิดจากผู้ได้รับบำเหน็จความชอบประจำปี พ.ศ. 2555 และนำมาคูณจำนวน 12 เดือน รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 70 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ