คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 แจ้งการพบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือโรคโคโรน่า 2012 ในต่างประเทศ มีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 2 ราย รายแรกเสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 เป็นผู้ป่วยชายชาวซาอุดิอาระเบีย อายุ 60 ปี รายที่ 2 เป็นผู้ป่วยชายชาวกาตาร์ อายุ 49 ปี มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร่วมกับภาวะไตวาย และมีประวัติการเดินทางมาจากประเทศซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการพบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทั้งสองราย โดยทั้งสองรายไม่พบความเชื่อมโยง และไม่พบการติดเชื้อไปยังผู้สัมผัสโรค ทั้งนี้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 โดยได้ระบุพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศกาตาร์ อย่างไรก็ตามก็ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางแต่อย่างใด สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโคโรน่า 2012 นั้น
ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมาตรการในยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ของแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 — 2559) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. แจ้งเตือนภัยแก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุขผ่านทางระบบข่าวกรองโรคติดต่ออุบัติใหม่
2. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์และสื่อมวลชน เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ที่จะเดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ
3. ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย องค์การอนามัยโลกศูนย์ป้องกันควบคุมโรงแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกำหนดมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการดูแลรักษาพยาบาล โดยจะมีการประสานงานกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. กำหนดมาตรการและยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม ดังนี้
4.1 จัดระดับความรุนแรงขของสถานการณ์ ได้แก่
ระดับ 1 มีการระบาดในประเทศอื่น แต่ยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย
ระดับ 2 มีผู้ป่วยในประเทศไทย แต่ไม่แพร่ระบาดหรือยังอยู่ในวงจำกัด
ระดับ 3 มีการแพร่ระบาดวงกว้างหลายพื้นที่ และมีอัตราป่วย อัตราตายใกล้เคียงโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
ระดับ 4 มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง พบผู้ป่วยอาการรุนแรงมาก เสียชีวิตมาก
4.2 ดำเนินการเฝ้าระวังโรคตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบที่เดินทางมาจากประเทศทางแถบตะวันออกกลางที่เข้ามาในประเทศไทย โดยการประสานความร่วมมือจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
4.3 ดำเนินการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าได้
4.4 แจ้งแนวทางการรักษาพยาบาล และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษในระดับสูงสุด เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมาแล้วในการป้องกันโรคซาร์ส และจัดระบบการส่งต่อหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
4.5 เตรียมการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ผู้ที่จะเดินทางไปและกลับจากการไปแสวงบุญพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และประสานการเตรียมความพร้อมร่วมกับทีมแพทย์ประจำคณะที่จะต้องเดินทางไปดูแลผู้แสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
4.6 ให้มีการสื่อสารความเสี่ยง โดยการประสานด้านเทคนิควิชาการเพื่อจัดทำประเด็นการสื่อสารให้มีความสอดคล้องกัน และปรับข้อมูลให้ทันสถานการณ์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2555--จบ--