เรื่อง การเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานศูนย์ประสานงานอาเซียนทางด้านโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
(ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses : ACCAHZ) ในประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อท่าทีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ที่จะเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานศูนย์ประสานงานอาเซียนทางด้านโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses : ACCAHZ) ในประเทศไทย ตามที่ กษ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. คณะทำงานด้านปศุสัตว์แห่งอาเซียน (ASEAN Sectoral Working Group on Livestock : ASWGL) ได้กำหนดให้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคทางด้านการควบคุมโรคระบาดสัตว์ (Regional Coordination Mechanism on Animal Health and Zoonoses : RCM) ภายใต้กรอบการทำงานของ ASEAN โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหน่วยงานในการประสานการทำงานภายในประเทศสมาชิก ASEAN และระหว่าง ASEAN กับองค์การระหว่างประเทศด้านการควบคุมโรคระบาดสัตว์
2. ผลการประชุม Special Senior Official Meeting of the 32nd Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry (Special Som-32nd AMAF) ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2554 ได้รับรองข้อเสนอของ ASWGL ให้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงาน RCM โดยประเทศไทยและประเทศมาเลเซียได้เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงาน RCM ที่ประเทศของตัวเอง และมีการกำหนดชื่อ RCM ว่า “ศูนย์ประสานงานอาเซียนทางด้านโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses : ACCAHZ) มีหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศในภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมป้องกันและกำจัดโรคระบาดในภูมิภาค
3. ASEAN ได้จ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงาน RCM ภายใต้การศึกษาชื่อ “Strengthening ASEAN Regional Coordination of Animal Health and Zoonoses” โดย Nigel Perkins และคณะ ซึ่งผลการศึกษาได้กำหนดแนวทางที่เป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงาน RCM ว่าควรที่จะตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย หรือจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สะดวกต่อการเดินทางของประเทศสมาชิกและสะดวกในการประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) อีกทั้งมีหน่วยงานที่ดำเนินงานในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว
4. การจัดตั้งสำนักงาน ACCAHZ จะแบ่งช่วงระยะเวลาการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 preparation (พ.ศ. 2254-2557) ระยะที่ 2 establishment (พ.ศ. 2558) และระยะที่ 3 operation (พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป) ซึ่งสถานที่ตั้งจะต้องมีคุณสมบัติหลักที่ต้องพิจารณา ดังนี้ มีความเหมาะสมด้านการเมืองและด้านเทคนิคที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก มีโครงสร้างต่าง ๆ เหมาะสม (อาคาร การเงิน การเดินทาง สถานที่พัก) ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเจ้าภาพ (อาคาร เจ้าหน้าที่ การเงิน และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ) เป็นศูนย์กลางสำหรับประเทศสมาชิก (สะดวกในการเดินทาง) และมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่เหมาะสม สำนักงาน ACCAHZ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำและประกอบด้วยหน่วยงานย่อย คือ Epidemiology Network Coordination, Laboratory Network Coordination, Program coordination และ operations Unit ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจาก ASEAN Animal Health Trust Fund (AAHTF) การเงินบริจาคจากประเทศสมาชิก และองค์กรอื่น ๆ
5. จากคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นประเทศไทยมีความเหมาะสมในทุกด้าน และในเดือนกันยายน 2555 จะมีการประชุม Special Senior Official Meeting of the 34th Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry (Special SOM-34th AMAF) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งประเทศไทยต้องแสดงท่าทีและยืนยันความพร้อมในการเสนอจัดตั้งสำนักงาน ACCAHZ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
6. การจัดตั้งสำนักงานศูนย์ประสานงานอาเซียนทางด้านโรคระบาดสัตว์และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (ASEAN Coordinating Centre for Animal Health and Zoonoses : ACCAHZ) ในประเทศไทย มีลักษณะเป็นความตกลงระหว่างประเทศและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
6.1 แสดงบทบาทความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในด้านการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาดสัตว์
6.2 สำนักงาน ACCAHZ ในประเทศไทย ตามกรอบที่ได้กำหนดไว้จะเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น งบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดโรคระบาดสัตว์
6.3 สามารถกำหนดแนวทางในการพัฒนาและการควบคุมโรคในระดับภูมิภาค อันจะเกิดผลดีในการป้องกันโรคที่อาจแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยได้ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น
7. การจัดตั้งสำนักงาน ACCAHZ ในประเทศไทยจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นการลงนามระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศตามมาตรา 2 ข้อ (a) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2555--จบ--