กรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 10, 2012 10:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง กรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และขอยกเว้นการปฏิบัติ

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบกรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2. อนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 (เรื่อง การระบายจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551 /52 และขอทบทวนคณะกรรมการเกี่ยวกับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับกรณีของข้าว ทั้งนี้ ให้การระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ครอบคลุมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนที่เหลือจากโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/52 โดยให้ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการระบายแต่ละครั้ง ตามกรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชุดใหม่

กรอบแนวทางการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล มีดังนี้

1. การระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต็อกรัฐบาลให้สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล โดยจะต้องพิจารณาถึงความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของตลาด

2. ระบายโดยเปิดกว้างให้ระบายทั้งเพื่อการส่งออกต่างประเทศและการใช้ภายในประเทศ โดยคำนึงถึงสภาวะตลาดและระดับราคาที่เหมาะสม

3. กำหนดกลยุทธ์ในการระบายเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อราชการ

โดยไม่เปิดเผยข้อมูลปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต็อกของรัฐบาลเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรองและไม่เปิดเผยผลการดำเนินการระบายแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาตลาดจนกว่าการดำเนินการระบายจะแล้วเสร็จตามโครงการ

วิธีการระบาย

1. การเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดย G ของประเทศผู้ซื้อ ให้หมายถึง 1) รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ 2) ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ 3) รัฐวิสาหกิจของประเทศผู้ซื้อซึ่งอาจพิจารณา ขายในราคามิตรภาพโดยไม่ควรกำหนดปริมาณและช่วงเวลาที่จะระบาย เพราะจะมีผลกระทบต่อราคาตลาดได้

2. การขายเป็นการทั่วไป โดยแยกเป็น

ก. การระบายเพื่อการส่งออก

โดยการออกหนังสือเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้แก่ผู้ประกอบการที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการจากต่างประเทศหรือผู้รับฝากเก็บข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสนอซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในคลังที่รับฝากเก็บเพื่อทำการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ข. การระบายเพื่อการใช้ภายในประเทศ

โดยการออกหนังสือเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ กรดซิตริก กรดแลตติค กลุ่มผู้ผลิตเอทานอล อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันพืช โรงงาน แป้งข้าวโพด เป็นต้น รวมถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ภายในประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการดำเนินกิจการของตนเองหรือกลุ่มสมาชิก

3. การขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)

ปริมาณที่จะระบาย

การระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่ละครั้ง จะพิจารณาปริมาณตามสภาวะตลาด โอกาส และเวลาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ รวมทั้งเพื่อสนองตอบต่อความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของตลาดต่างประเทศ โดยคำนึงถึงราคาของประเทศคู่แข่ง

เกณฑ์ราคา

กรณีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เจรจาขายในราคา F.O.B. และราคา ณ หน้าคลังเก็บสินค้า (Ex-warehouse) โดยอ้างอิงเกณฑ์ราคาการขายเป็นการทั่วไปเพื่อการส่งออก ซึ่งอาจพิจารณาขายในราคามิตรภาพและไม่กระทบต่อราคาตลาด

กรณีขายเป็นการทั่วไป แยกเป็น

ก. กรณีขายเพื่อการส่งออก ใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง ณ หน้าคลังเก็บสินค้าเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ ใช้ราคาชิคาโก (CBOT) เฉลี่ยย้อนหลัง บวกค่าระวางเรือถึงกรุงเทพฯ หักค่าใช้จ่ายการส่งออก (ประกอบด้วย ค่าเรือโป๊ะ ค่าขนขึ้นเรือใหญ่ ค่าบริหารจัดการในการส่งออกตามแนวทางในการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/52) และค่าขนส่งจากคลังรับฝากไปท่าส่งออก เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา

ข. กรณีขายเพื่อใช้ภายในประเทศ ราคา ณ หน้าคลัง ใช้ราคาเฉลี่ยที่โรงงานอาหารสัตว์ ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรับซื้อ หักค่าขนส่งจากคลังรับฝากถึงโรงงาน / สถานที่ประกอบกิจการของผู้ใช้

ทั้งนี้ กรณีที่สินค้าในสต็อกรัฐบาลเก็บไว้นานมากกว่า 1 ปี อาจเกิดปัญหาเรื่องการเสื่อมสภาพตามระยะเวลาที่เก็บรักษา ซึ่งการพิจารณากำหนดเกณฑ์ราคาโดยให้หักค่าเสื่อมตามสภาพ และหากข้าวโพดเสื่อมสภาพมาก อาจพิจารณาขายต่ำกว่าเกณฑ์ราคาที่คำนวณได้ตามกรณีการขายแบบรัฐต่อรัฐและกรณีขายเป็นการทั่วไป

ระยะเวลาการระบาย ปริมาณที่อนุมัติให้ระบายแต่ละครั้ง ดำเนินการซื้อขายให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน

กระบวนการพิจารณาอนุมัติการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีดังนี้

1) คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2) ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) เป็นผู้อนุมัติการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแต่ละครั้ง โดยดำเนินการระบายตามกรอบการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

3) คณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นผู้อนุมัติวิธีการและปริมาณการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแต่ละครั้ง

4) คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดำเนินการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางการระบายที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแต่ละครั้ง ดังนี้

1. พิจารณากำหนดราคาเกณฑ์พื้นฐาน

2. ดำเนินการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอซื้อ

3. สรุปผลการเจรจาและนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สำหรับกรณีการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบรัฐต่อรัฐให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำผลการเจรจาต่อรองเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนลงนามในสัญญากับหน่วยงานผู้ซื้อ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 ตุลาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ