ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 10:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523

2. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการประกาศชื่อโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย และ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบของรัฐมนตรี อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายโรคติดต่อแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคติดต่อส่วนกลาง คณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีองค์ประกอบตามที่กำหนด โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

5. กำหนดให้กรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการและงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายโรคติดต่อแห่งชาติ และเป็นหน่วยงานกลางในการเฝ้ระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อของประเทศ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฝ้าระวังโรคติดต่อและการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ

7. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคติดต่อประจำช่องทางเข้า ออกระหว่างประเทศ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

8. กำหนดให้คณะกรรมการฯ หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขซึ่งประจำช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจหน้าที่และดำเนินการตามที่กำหนด

9. กำหนดให้มีการจ่ายค่าทดแทนกรณีการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้หนึ่งผู้ใด

10. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงาน และกำหนดบทกำหนดโทษ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ