1. เห็นชอบตามมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้
(1) เห็นชอบกับโครงการบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากโครงการฯจะช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำ และทำให้คุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำท่าจีนดีขึ้นโดยให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ลงทุนเฉพาะในระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 2,750.63 ล้านบาท ก่อนส่วนการลงทุนในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการผูกพันงบประมาณระยะยาวถึงปี พ.ศ. 2573 ควรประเมินผลการดำเนินการในระยะที่ 1 รวมทั้งศึกษาทบทวนข้อสมมติต่าง ๆ ก่อนนำเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้ปรับลดระยะเวลาในการบริหารจัดการเดินระบบบำบัดจาก 25 ปี เป็น 15 ปี เพื่อเร่งถ่ายโอนภารกิจให้เทศบาลนครอ้อมน้อย
(2) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร และเทศบาลนครอ้อมน้อย ร่วมลงทุนในโครงการฯ เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการฯ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างความเป็นเจ้าของโครงการฯ ทั้งนี้ ให้ อจน. เร่งเจรจาและจัดทำข้อตกลงเรื่องสัดส่วนการร่วมลงทุนกับ อบจ. และเทศบาลนครอ้อมน้อย โดยเร็ว โดยเงินร่วมลงทุนดังกล่าว ให้หักจากเงินอุดหนุนประจำปีที่จัดสรรให้ อปท. ทั้งสอง
(3) ให้ อจน. เร่งประสานกับเทศบาลนครอ้อมน้อย ให้มีการตราเทศบัญญัติในการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียและค่าบริการระบายน้ำทิ้งให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ รวมทั้งจดทำข้อตกลงกับเทศบาลนครอ้อมน้อยให้รับภาระค่าบริการบำบัดน้ำเสียและค่าบริการระบายน้ำทิ้งส่วนที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย โดยต้องมีการตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
(4) ให้ อจน. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้จากการให้บริการจัดการน้ำเสีย และเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อลดการต่อต้านในการจัดเก็บค่าบริการ และเพื่อลดภาระจากการพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดิน และให้ อจน. จัดเตรียมแผนและดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับเทศบาลนครอ้อมน้อย ในการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเทศบาลนครอ้อมน้อย ให้พร้อมรับถ่ายโอนภารกิจได้ภายในระยะเวลาของโครงการฯ
(5) ให้ อจน. ร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ ในการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมและป้องกันการลักลอบระบายมลพิษลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ตลอดจนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมในการจัดการน้ำเสียโรงงานและการชำระค่าบริการบำบัดน้ำเสีย
2. กำหนดเป็นเงื่อนไขในการอนุมัติโครงการ ให้เทศบาลนครอ้อมน้อย ต้องรับผิดชอบในการสมทบเงินค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย หากการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนได้ไม่เพียงพอ รวมทั้งให้มีการตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ
3. สำหรับการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในระยะที่ 2 หรือระยะต่อไปนั้นให้พิจารณาจากความต้องการและความจำเป็น โดยพิจารณาจากความรุนแรงของปัญหา หรือปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด หากปริมาณน้ำเสียมีมากขึ้นจึงค่อยพิจารณาขยายระบบต่อไป โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องในการดำเนินการบำบัดน้ำเสีย และระยะเวลาในการก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดช่วงในการบำบัดน้ำเสีย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555--จบ--