คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน หลังจากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จะได้พิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายภายในต่อไป ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เสนอ สำหรับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว ในเรื่องทางอาญาของภูมิภาคอาเซียนนั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
สาระสำคัญของสนธิสัญญาฯ
1. กำหนดขอบเขตความช่วยเหลือของสนธิสัญญาฯ การไม่บังคับใช้ของสนธิสัญญาฯ ข้อจำกัด ความช่วยเหลือของภาคี และการแต่งตั้งผู้ประสานงานกลางของแต่ละภาคีเพื่อจัดทำและรับคำร้องขอความช่วยเหลือ
2. กำหนดแบบและเนื้อหาของคำร้องขอความช่วยเหลือในทางอาญา การดำเนินการตามคำร้องขอ และการรักษาความลับ
3. กำหนดข้อจำกัดการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการช่วยเหลือการได้มาซึ่งการให้ถ้อยคำโดยสมัครใจของผู้ให้ถ้อยคำ การได้มาซึ่งพยานหลักฐาน และสิทธิที่จะปฏิเสธการให้พยานหลักฐาน
4. กำหนดการจัดหาให้ซึ่งเอกสารและบันทึกอื่น ๆ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ การปรากฏตัวของบุคคลในภาคีผู้ร้องขอ และการปรากฏตัวของบุคคลที่ถูกคุมขังในภาคีผู้ร้องขอ
5. กำหนดหลักประกัน การเดินทางผ่านของบุคคลซึ่งถูกคุมขัง การค้นและยึด การส่งพยานหลักฐานคืน การค้นหาที่อยู่หรือการระบุตัวบุคคล การส่งเอกสาร และความช่วยเหลือในการดำเนินการริบทรัพย์สิน
6. กำหนดความสอดคล้องกับข้อตกลงอื่น การรับรองและการยืนยันความถูกต้องแท้จริง ค่าใช้จ่าย การปรึกษาหารือ การแก้ไข การระงับข้อพิพาท และข้อสงวน
7. กำหนดเงื่อนไขในการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ การเก็บรักษา และการลงทะเบียน การมีผลใช้บังคับ การใช้บังคับและการบอกเลิก และผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555--จบ--