การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2012 11:22 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

(TICA-USAID Memorandum of Understanding on Trilateral Cooperation)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำและลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร. หรือ The Thailand International Development Cooperation Agency — TICA) กับ The United States Agency for International Development (USAID)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สพร. และ USAID ได้เห็นชอบในหลักการที่จะขยายความร่วมมือออกไปในลักษณะของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาบนพื้นฐานของการร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (cost-sharing) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค (ความร่วมมือไตรภาคี) โดย USAID ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งจัดทำโดยอ้างอิงความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-สหรัฐฯ เมื่อปี 2520 และบันทึกความเข้าใจแก้ไขความตกลงฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 (ทั้งสองฉบับรวมกันถือว่าเป็นความตกลงแม่บทฯ) และมีเนื้อหากว้าง ๆ เพื่อแสดงเจตจำนงของทั้งสองฝ่ายที่จะขยายความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ไปประเทศที่สามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ในชั้นนี้ร่างบันทึกความเข้าใจฉบันนี้ยังไม่มีผลผูกพันด้านงบประมาณ ของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากจะต้องมีการจัดทำความตกลงแยกเป็นรายโครงการ ซึ่งจะมีรายละเอียดด้านงบประมาณระหว่างประเทศคู่ร่วมมือเป็นกรณีไป

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความตกลงอื่นใดที่มีอยู่หรือที่จะมีในภายหลัง รวมทั้งไม่ถือเป็นความตกลงที่มีผลผูกพันหรือก่อพันธกรณีใดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศหรือของสหรัฐฯ

3. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดโครงการและสาขาที่มีความสนใจร่วมกันและตรงกับความต้องการของประเทศที่สาม (ประเทศผู้รับ) โดยมุ่งเน้นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4. การมีผลบังคับใช้ของร่างบันทึกความเข้าใจจะสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบ และการแก้ไขใด ๆ จะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ลงนามโดยทั้งสองฝ่าย

5. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จัดเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานปฏิบัติภายใต้ความตกลงแม่บทฯ ที่มีอยู่ระหว่างกัน และไม่มีข้อบทอันจะก่อเป็นข้อผูกพันในระดับรัฐบาล จึงไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ