ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 10:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่าเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ((ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและผู้ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยแต่มีจำนวนบุคคลที่ได้รับความเสียหายในมูลคดีเดียวกันเป็นจำนวนมาก ให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อีกทั้งเป็นมาตรการที่ทำให้การดำเนินคดีในมูลคดีอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกัน อันเป็นมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจกท์และสมาชิกกลุ่ม (ร่างมาตรา 222/1)

2. คดีแบบกลุ่ม ได้แก่ คดีละเมิด คดีผิดสัญญา และคดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ และเป็นคดีที่มีสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก (ร่างมาตรา 222/5)

3. กำหนดให้คำฟ้องของโจกท์และกลุ่มบุคคลต้องมีสภาพแห่งข้อหาและคำบังคับที่มีลักษณะเดียวกัน (ร่างมาตรา 222/7)

4. คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอาจอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้ (ร่างมาตรา 222/9)

5. กำหนดให้โจทก์ต้องมีส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งมีการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา (ร่างมาตรา 222/9 (5))

6. ให้ศาลส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ และประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน (ร่างมาตรา 222/12)

7. สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาล (ร่างมาตรา 222/13)

8. กำหนดให้สมาชิกกลุ่มมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดี ขอตรวจเอกสารและคัดสำเนาเอกสาร จัดหาทนายคนใหม่ และร้องขอเข้าแทนที่โจกท์ (ร่างมาตรา 222/14)

9. กำหนดให้ศาลมีอำนาจยกเลิกคำสั่งการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป (ร่างมาตรา 222/16)

10. กำหนดให้ในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจกท์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณามิได้ แต่ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ร่างมาตรา 22/19)

11. กำหนดให้ศาลมีอำนาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาคดีได้ (ร่างมาตร 222/20)

12. กำหนดให้คู่ความอาจเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานแทนการซักถามต่อหน้าศาลได้ (ร่างมาตรา 222/21)

13. กำหนดให้คำพิพากษาของศาลผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่ม และโจทก์มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกกลุ่ม (ร่างมาตรา 222/35)

14. กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น (ร่างมาตรา 222/45)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ