การบูรณาการงบประมาณและการจัดทำแผนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดปี พ.ศ. 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 11:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามข้อเสนอของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ดังนี้

1. รับทราบปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556

2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดสรรและตัดโอนงบประมาณลงสู่พื้นที่ให้แล้วเสร็จอย่างช้าภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 และแจ้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.)/สำนักงาน ป.ป.ส. ทราบด้วย

3. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 (ซึ่งรัฐบาลจัดสรรผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) มาใช้ในการสนับสนุนและเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ปี พ.ศ. 2556 โดยเฉพาะการดำเนินโครงการ “ชุมชุนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน พื้นที่แพร่ระบาดทั่วประเทศ

4. ให้จังหวัดทุกจังหวัดพิจารณานำงบพัฒนาจังหวัดที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 มาใช้ในการสนับสนุนและเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ปี พ.ศ. 2556 โดยเฉพาะการดำเนินโครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน พื้นที่ระบาดทั่วประเทศ

5. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลไกเฉพาะจัดตั้งขึ้น จัดทำแผนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ปี 2556 โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศพส.จ.)/ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอำเภอ (ศพส.อ.) ให้กำหนดเป้าหมายในแต่ละแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดให้แล้วเสร็จอย่างช้าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 และส่งให้ ศพส./สำนักงาน ป.ป.ส. ต่อไป

6. ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พัฒนากระบวนการคัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดและพัฒนาระบบการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดอัตราเสพซ้ำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

7. ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตวิทยากรป้องกันฯ ให้ครบถ้วนตามเป้าหมาย ได้แก่ วิทยากรโครงการการให้การศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในสถานศึกษา (Drug Abuse Resistance Education : D.A.R.E. ) วิทยากรพระ วิทยากรครูทหาร วิทยากรตำรวจ วิทยากรที่เป็นครูในโรงเรียน และป้องกันเยาวชนก่อนวัยเสี่ยง (ระดับชั้น ป.5 — ป.6) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

8. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมการพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับ ศพส.จ./ศพส.อ.

9. ให้ ศพส.จ./ศพส.อ. ดำเนินการเร่งรัดปฏิบัติการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้ผู้เสพเข้าบำบัดโดยสมัครใจทั่วประเทศ โดยการจัดทำแผนพัฒนาระบบการบำบัดรักษาอย่างครอบวงจร รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง ตามโครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติรายงานว่า

1. รัฐบาลได้ประกาศให้การเอาชนะยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จโดยเร็ว ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับยาเสพติด จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 154/2554 ลงวันที่ 9 กันยายน 2554 เรื่อง ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสถานการณ์แพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประชาชนและสังคมให้ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 155/2554 ลงวันที่ 9 กันยายน 2554 เรื่อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นผู้อำนวยการศูนย์

2. ต่อมา ศพส. ได้มีคำสั่ง ดังนี้

2.1 คำสั่งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 23/ 2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 กำหนดให้มีปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556 และให้หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการแผนงาน โครงการ งบประมาณ และให้สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณาการแผนงาน โครงการ งบประมาณ ในภาพรวมตามแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

2.2 คำสั่งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 24/2554 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เรื่อง โครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

จุดมุ่งหมายหลัก

(1) ลดปัญหาการค้ายาเสพติดจากผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยในชุมชน

(2) ลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชนเข้ารับการบำบัดรักษาให้มากที่สุด

(3) เฝ้าระวังและติดตาม ช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้มีอาชีพ การงาน การศึกษา

และไม่กลับไปมีพฤติการณ์ซ้ำ

(4) คนในชุมชนมีความปลอดภัยจากยาเสพติดและอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน

(5) ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเฝ้าระวังและป้องกันปัญหายาเสพติดได้

เป้าหมาย พื้นที่ปฏิบัติการ 12 พื้นที่

2.3 คำสั่งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 25/2555 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2555 เรื่อง โครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน พื้นที่ระบาดทั่วประเทศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

จุดมุ่งหมายหลัก

(1) ลดปัญหาการค้ายาเสพติดจากผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยในหมู่บ้าน/ชุมชน

(2) ลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชนเข้ารับการบำบัดรักษาให้มากที่สุด

(3) เฝ้าระวังและติดตาม ช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้มีอาชีพ การงาน การศึกษา

และไม่กลับไปมีพฤติการณ์ซ้ำ

(4) คนในชุมชนมีความปลอดภัยจากยาเสพติดและอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน

(5) ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเฝ้าระวังและป้องกันปัญหายาเสพติดได้

เป้าหมาย เพื่อให้การปฏิบัติการในโครงการนี้ สอดคล้องกับคำสั่งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 23/2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เรื่อง ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556 และเป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ จึงกำหนดเป้าหมายให้ทุกอำเภอ/เขต คัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน 1 พื้นที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

3. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณด้านการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 9 กระทรวง 26 ส่วนราชการ รวมงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 11,288,195,300 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ