1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement)
สาระสำคัญของร่างเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย
1) ความสัมพันธ์ในภาพรวม ผู้นำอาเซียนและอินเดียประกาศยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และสนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดีย (พ.ศ. 2553-2558) รวมทั้งจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558 โดยเห็นพ้องให้จัดตั้งศูนย์อาเซียน-อินเดียเพื่อกระชับความร่วมมือดังกล่าว
2) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ผู้นำอาเซียนและอินเดียมุ่งมั่นจะ (1) เสริมสร้างความเข้าใจโดยให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในระดับสูง ตลอดจนการหารือทวิภาคีและพหุภาคีในระดับต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากกระบวนการที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เช่น การประชุม ASEAN Defense Ministers’ Meeting Plus (ADMM+) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการทหาร และการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศ (2) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการภายใต้แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล และการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค
3) ภายใต้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผู้นำอาเซียนและอินเดียเรียกร้องให้สรุปผลการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนอาเซียน-อินเดีย เพื่อให้สามารถจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าร่วมกระบวนการภายใต้ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ตั้งแต่ต้น รวมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างอาเซียน-อินเดีย เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2558
4) ภายใต้ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยให้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และนักวิชาการ เสริมสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน พ.ศ. 2552-2558 (IAI Work Plan II)
5) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยง สนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงฯ และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน โดยให้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ASEAN Connectivity Coordinating Committee กับ India Inter-Ministry on ASEAN Transport Connectivity เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
6) สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) กรอบ ARF กรอบ ADMM+ และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ
7) เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน-อินเดีย โดยให้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนอาเซียน-อินเดีย ASEAN-India Green Fund และกองทุนอาเซียน-อินเดียเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม 2555--จบ--