การขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2012 09:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เห็นชอบ และรับทราบ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวมจำนวน 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัย ภายใต้วงเงินงบประมาณปีละ 20 ล้านบาท โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดำเนินการต่อไป

3. รับทราบผลการดำเนินการมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนโดยธนาคารออมสินและโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่หนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท และแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบต่อไป

ข้อเท็จจริง

กค.เสนอว่า

1. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 492) พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงมหาดไทยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 กค. และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เห็นควรขยายระยะเวลาต่อไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2555-2557 ที่จัดทำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ผลของมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 พบว่าส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเพิ่มขึ้น

2. การขยายมาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยภายใต้วงเงินงบประมาณปีละ 20 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา มีการขอรับเงินชดเชยต่ำกว่างบประมาณที่ได้รับ และผู้เอาประกันภัยยังมีจำนวนไม่มากหากเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการจริงที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการตั้งแต่ปี 2550 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 มีผู้เอาประกันทั้งสิ้น 355 ราย จำนวนเงินที่ชดเชยรวมทั้งสิ้นประมาณ 44 ล้านบาท กค. จึงเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี และเห็นควรให้ คปภ. พิจารณาเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ และพิจารณาปรับปรุงกระบวนการในการอนุมัติค่าชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยแก่ผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนโดยธนาคารออมสิน มีระยะเวลาการขอกู้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และที่ผ่านมาปริมาณการใช้สินเชื่อโดยเฉลี่ยภายใต้โครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ของวงเงินโครงการทั้งสิ้นจำนวน 25,000 ล้านบาท จึงเห็นควรให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งใช้วงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากธนาคารออมสินให้เต็มวงเงินก่อน โดย กค. จะติดตามความคืบหน้าของโครงการกับธนาคาร ออมสินเป็นระยะ หากมีความจำเป็นที่จะต้องขอวงเงินโครงการเพิ่มเติมหรือขอขยายระยะเวลา กค. จะพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

4. โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยเปิดลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2555 ซึ่งลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการอยู่แล้ว ดังนั้น ลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ฯ เงินต้นไม่ถึง 200,000 บาท ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 สามารถขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 35,846 ราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 3,747 ล้านบาท

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ลดอัตราหรือยกเว้นรัษฎากร ดังต่อไปนี้

1.1 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในกรณีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการผลิตสินค้า การขายสินค้า หรือการให้บริการ ณ สถานประกอบกิจการนั้น

1.2 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

1.3 ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้ซึ่งเป็นราคาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

1.4 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้ว ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) (2) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

1.5 ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ เฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 ฉบับ

2.1 กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนห้องชุดโดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองห้องชุดที่ตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

2.2 กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ