แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ของกระทรวงคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2012 11:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ด้วยกระทรวงคมนาคมได้จัดทำ “แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556” ขึ้น เพื่อเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชน เนื่องจากในช่วงเทศกาลดังกล่าวประชาชนมีความต้องการในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องประสบปัญหาทั้งในด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ สภาพการจราจรติดขัด แออัดและมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุบัติเหตุ รวมทั้งยังอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานหลายหน่วยงาน โดยแผนอำนวยความสะดวกฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ประชาชนกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมี “ความสุข สะดวก และปลอดภัย” ด้วยการดูแลอำนวยความสะดวกในการให้บริการรถสาธารณะประเภทต่าง ๆ และการซ่อมแซมถนน เส้นทางหลักและเส้นทางเลี่ยงให้ใช้การได้อย่างดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและชัดเจน ทั้งนี้ แผนอำนวยความสะดวกฯดังกล่าว สอดคล้องกับแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2555 — 2 มกราคม 25556 ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แผนงานด้านความมั่นคง และแผนงานด้านความปลอดภัย ดังนี้

1. แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก ได้แก่

1.1 บริการการขนส่งสาธารณะ

หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง/ ไม่ประจำทางเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทาง

1) บริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาไป-ขากลับ ดังนี้

                    ลำดับ   รายละเอียด             27 - 29 ธ.ค. 2555     1 - 3 ม.ค. 2556
                                                       (ขาไป)               (ขากลับ)
                     1      จำนวนเที่ยว (เที่ยว)           28,194               27,500
                     2      จำนวนผู้โดยสาร (คน)         751,983              700,157

2) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดขบวนรถและเพิ่มตู้โดยสาร ดังนี้

จัดขบวนรับผู้โดยสารประจำ 242 ขบวน/วัน จะเพิ่มตู้โดยสารโดยเฉพาะขบวนรถด่วน รถเร็ว ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2556 อีกขบวนละ 1-2 ตู้ หรือให้เต็มหน่วยลากจูง สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอไม่ตกค้างตามสถานี หรือรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 100 คน/ขบวน

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารประจำทาง

3.1) การเดินรถโดยสารประจำทาง จำนวน 108 เส้นทางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 — 2 มกราคม 2556

3.2) จัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่ง จำนวน 4 สถานี รวม 35 เส้นทาง โดยจัดเดินรถ แยกช่วงการเดินรถ ขาออก ช่วงวันที่ 28 — 31 ธันวาคม 2555 และขาเข้า ช่วงวันที่ 1 — 2 มกราคม 2556

3.3) จัดรถ Shuttle Bus รถเฉพาะกิจ จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่เส้นทางจตุจักร — อู่กำแพงเพชร 2 และเส้นทางจตุจักร — BTS — อู่กำแพงเพชร 2

3.4) จัดรถปรับอากาศเดินรถร่วมกับบริษัท บขส. ช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2555 - 2 มกราคม 2556 จำนวน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพ — อยุธยา และเส้นทางกรุงเทพ — สระบุรี

4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเที่ยวบินพิเศษเส้นทางไป-กลับ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28-30 ธันวาคม 2555 และวันที่ 1-3 มกราคม 2556 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 26 เที่ยวบิน จำนวน 7,000 ที่นั่งในเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-เชียงราย และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น รวมทั้งเพิ่มจุดเช็คอิน พร้อมเพิ่มพนักงานให้บริการให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร

5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ขยายเวลาในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2556

6) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เพิ่มความถี่ในการให้บริการและขยายเวลาให้บริการ ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยออกจากต้นทาง (สุวรรณภูมิและพญาไท) และให้บริการเที่ยวสุดท้ายเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2556

7) กรมการขนส่งทางบก จัดรถโดยสารสาธารณะรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อเนื่องไปยังจังหวัด/อำเภอ/หมู่บ้านต่างๆ เพิ่มขึ้นและให้เพียงพอ

1.2 การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีแผนงานการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจรในช่วงก่อนเทศกาล ระหว่างเทศกาล และหลังเทศกาล รวมทั้งมีการติดตาม รายงาน ประเมินผล และวิเคราะห์จุดเสี่ยง / จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

1.3 การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/สถานีขนส่ง/ ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร /สถานีรถไฟ

กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมการบินพลเรือน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จัดเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน

1.4 อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร ดำเนินการโดย

1) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (ศทท.สปค.)

2) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ศทท.สนข.)

2. แผนงานด้านความมั่นคง

หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการให้มีการจัดเวรยาม และเฝ้าระวังสังเกตการณ์การกวดขันอยู่เวรยามประจำสถานีขนส่งผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความตรวจตรา ความเรียบร้อยในบริเวณโดยรอบการเพิ่มการสังเกต เฝ้าระวังเหตุการณ์และวัตถุแปลกปลอมและสิ่งผิดปกติ รวมทั้ง การสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยตลอดจนเตรียมรองรับเหตุฉุกเฉินสำหรับให้การช่วยเหลือในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินโดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการ

3. แผนงานด้านความปลอดภัย

ประกอบด้วย

3.1 มาตรการด้านการบริหารจัดการผู้ขับขี่/ผู้โดยสารปลอดภัย มีหน่วยงานที่ดำเนินการ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

3.2 มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

1) กรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการตรวจความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยจัดกิจกรรม “ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน”

1.1) ช่วงก่อนเทศกาล ประมาณ 1 เดือน ตั้งจุดให้บริการรวมทั้งสิ้น 2,343 แห่ง โดยมีภาคเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วยศูนย์บริการต่าง ๆ ตรอ. บริษัทประกันภัย ฯลฯ

1.2) ช่วงระหว่างเทศกาล ตั้งจุดให้บริการบนถนนสายหลักทั่วประเทศ จำนวน 250 แห่ง โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

2) บริษัท ขนส่ง จำกัด

2.1) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

2.2) จัดเตรียมช่างพร้อมจัดเตรียมอะไหล่สำรอง

2.3) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบส่วนควบรถโดยสาร

3) กรมเจ้าท่า ให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ตรวจสภาพเรือและระมัดระวังในการเดินเรือดังต่อไปนี้

3.1) ให้มีการตรวจสภาพความพร้อมของตัวเรือ และเครื่องจักรว่ามีความเหมาะสมกับสภาพในการที่จะใช้

3.2) จัดหาอุปกรณ์ประจำเรือ เช่น พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ เบาะ ที่นั่ง ชูชีพ เครื่องดับเพลิง ให้พร้อมใช้งานได้ทุกเวลา

3.3) เรือโดยสาร ต้องมีป้ายแสดงจำนวนคนโดยสารไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

3.4) โป๊ะเทียบเรือ ต้องมีป้ายระบุจำนวนคนโดยสารที่สามารถรับน้ำหนักได้ไว้ที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีความมั่นคง แข็งแรง และเหมาะสมกับสภาพการใช้

3.5) บนโป๊ะเทียบเรือ ต้องมีพวงชูชีพพร้อมที่จะใช้งานได้ทันทีตามมุมของโป๊ะหรือสถานที่ที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที อย่างน้อย 4 พวง

3.3 มาตรการถนนปลอดภัย

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง ถนน และสะพานในความรับผิดชอบให้มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชน ทั้งในเรื่องของผิวการจราจร สัญญาณไฟป้ายและเครื่องหมายจราจร รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมในพื้นที่ที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง

3.4 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถบนทางหลวงสายหลักตามแนวเส้นทางการเดินทางของประชาชนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ จำนวน 11 จุด ในท้องที่ของจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง กำแพงเพชร และพิษณุโลก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์

ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง

ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

3.5 มาตรการด้านสังคม

บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เพื่อร่วมมือกัน ในการตรวจความพร้อมและวินัยการขับขี่ของผู้ขับขี่ โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท

3.6 มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์

1) กรมการขนส่งทางบก ติดตั้งป้ายรณรงค์กลางแจ้งขนาดใหญ่ 200x400 ตารางเมตร ในท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 5 ป้าย และในส่วนภูมิภาคจำนวน 8 ป้าย ประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ผ่านสื่อโทรทัศน์รวม 300 ครั้ง สื่อวิทยุรวมไม่น้อยกว่า 650 ครั้ง หนังสือพิมพ์รายวันและราย 3 วัน รวม 15 ครั้ง ส่ง SMS เตือนภัย 700,000 ครั้ง และจัดรายการ “สัญจรปลอดภัยกับกรมการขนส่งทางบก” ทางวิทยุชุมชนวันละ 1 ชั่วโมงทุกจังหวัดรวม 82 สถานี

2) กรมทางหลวง รณรงค์เผยแพร่กิจกรรม/ผลการดำเนินงานแถลงข่าว/จัดทำและแจกจ่ายแผ่นพับแนะนำเส้นทางเลี่ยง/ทางลัด รวมทั้ง รณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และ ผู้ใช้เส้นทาง

3) กรมเจ้าท่า ดำเนินการขอให้สถานีวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งสื่อมวลชนต่าง ๆ ออกข่าวแจ้งประกาศมาตรการต่าง ๆ ของกรมเจ้าท่า เพื่อให้ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ประกอบการเดินเรือ รวมทั้งประชาชนผู้ใช้บริการเรือโดยสารทั้งหลายได้ทราบ เพื่อใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการหรือคำแนะนำตักเตือนของกรมเจ้าท่า โดยทั่วถึงกันอีกทางหนึ่งด้วย

4) บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดนิทรรศการรณรงค์และปลุกจิตสำนึกของผู้ขับขี่ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับเพื่อกระตุ้นให้พนักงานขับรถและประชาชนทั่วไปตระหนักถึงผลจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ ณ อาคารสถานีขนส่งกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม 2555 เวลา 13.00 — 17.00 น.

การประสานงาน มีดังนี้

1. ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งระหว่างหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และเป็นผู้ประสานการให้บริการ อำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทางแก่ประชาชน

2. หมายเลขสายด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ใช้ในการประสานงาน เพื่อการติดต่อประชาสัมพันธ์ มีดังนี้

2.1 การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ ผ่านช่องทางสายด่วนของศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม เพื่อประสานการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสามารถประสานและแจ้งข้อมูลได้ที่โทรสายด่วนหมายเลข 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

2.2 การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ ผ่านช่องทางสายด่วน

1) กรมเจ้าท่า หมายเลข 1190

2) กรมทางหลวง หมายเลข 1586

3) กรมทางหลวงชนบท หมายเลข 1146

4) กรมการขนส่งทางบก หมายเลข 1584

5) บริษัท ขนส่ง จำกัด หมายเลข 0 2936 2963 และหมายเลข 1490

6) การท่าเรือแห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2269 3191 และ0 2269 3199

7) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หมายเลข 1543

8) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หมายเลข 1348

2.3 การประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ/โทรทัศน์/สถานีวิทยุ สวพ. 91/จส. 100 และตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193

การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล

1. ช่วงเทศกาล

1.1 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ (การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) รายงานสถิติจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวการให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกในแต่ละวัน มายัง ศปภ.คค. ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

1.2 กรมการขนส่งทางบกและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รายงานสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ/รถประจำทาง ให้ ศปภ.คค. ทราบ เป็นประจำทุกวันตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อจัดทำรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีต่อไป

1.3 กรมเจ้าท่า รายงานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำเป็นประจำทุกวันให้ ศปภ. คค. รวมทั้งสถิติการให้บริการประชาชนในการเดินทางทางน้ำ เช่น จำนวนประชาชนผู้ใช้บริการ จำนวนเรือขนส่งสาธารณะที่ให้บริการ โป๊ะเทียบเรือ ท่าเทียบเรือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นต้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

1.4 กรมการบินพลเรือน ดำเนินการให้ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ส่วนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือประสบภัยสำนักมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ รวบรวมรายงานจากท่าอากาศยานต่างๆ แล้วรายงานเหตุการณ์ให้อธิบดีกรมการบินพลเรือนและ ศปภ. คค. ทราบทุกวัน ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

2. ช่วงหลังเทศกาล

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานตามมาตรการ กิจกรรม โครงการ พร้อมปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 เพื่อประมวลรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ โดยกระทรวงคมนาคมจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลถัดไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ