มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 09:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่าย ที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการ ควบรวมกิจการประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. ประมวลรัษฎากร

1.1 มาตรา 65 ตรี (1) บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินสำรองจากเบี้ยประกันภัย และเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.2 มาตรา 74 (2) และ (3) บัญญัติให้กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน หรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้นำเงินสำรองหรือเงินกำไรยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ เฉพาะส่วนที่ยังมิได้เสียภาษีเงินได้ ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย และสำหรับกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการประกันภัยให้นำเงินสำรอง ซึ่งได้กันไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ตามมาตรา 65 ตรี (1) เฉพาะส่วนที่ยังมิได้นำมาเป็นรายได้มารวมคำนวณเป็นรายได้

2. จากข้อกฎหมายตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ข้างต้น ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกรณีบริษัทที่เป็นสถาบันการเงินหรือที่ประกอบกิจการประกันภัยที่เลิกกันหรือควบเข้ากันจะต้องนำเงินสำรองที่กันไว้มารวมคำนวณเป็นรายได้ ซึ่งบริษัทเดิมที่จะควบหรือบริษัทผู้โอนอาจไม่มีสภาพคล่องมากพอที่จะเสียภาษีจากเงินสำรองที่กันไว้ จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการในประเด็นเงินสำรองของสถาบันการเงินและกิจการประกันภัย โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทเดิมที่จะควบหรือบริษัทผู้โอนสำหรับเงินสำรอง ซึ่งได้กันไว้และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิก สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินสำรองซึ่งได้กันไว้ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามมาตรา 74 (2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กำหนดให้รายจ่ายของบริษัทใหม่ที่ควบเข้ากันหรือผู้โอนกิจการจากการโอนกิจการทั้งหมด เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ได้กันไว้ ตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการที่ต้องจดทะเบียนเลิกเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (20)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ