สรุปผลการประชุมคณะทำงานส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 10:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบสรุปผลการประชุมคณะทำงานส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดนตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า คณะทำงานส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน ได้ดำเนินการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 2 ครั้ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะทำงานฯ ประธานผู้แทนการค้าไทยเป็นรองประธานคณะทำงานฯ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นคณะทำงานและเลขานุการ และการประชุมคณะทำงานย่อยแต่ละยุทธศาสตร์รวม 4 ครั้ง ในช่วงวันที่ 17 กันยายน — 20 พฤศจิกายน 2555 สรุปดังนี้

1. การวางกรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนไปตลาดประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนร่วมแม่สอด — เมียวดี

1.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ย้ายหรือขยายการลงทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเสื้อผ้าไปขยายการลงทุนในกัมพูชา

1.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ความมั่นคงทางอาหารที่ผลิตในประเทศหนึ่งและนำไปแปรรูป จำหน่ายอีกประเทศหนึ่ง(ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปศุสัตว์ ไก่ หมู) แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการความร่วมมือ สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารร่วมกัน เพื่อให้กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นผู้ผลิตอาหารหลักเลี้ยงทวีปเอเชีย กรณีตัวอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

1.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการท่องเที่ยว การบริการในประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนด้านโรงแรม โรงพยาบาล แผนปฏิบัติการนำร่อง โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค 3 เส้นทางประกอบด้วย (1) เส้นทางเชื่อมมรดกโลก : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทางเชื่อมมรดกโลก-สุโขทัย-หลวงพระบาง-พุกาม-เสียมราฐ (2) เส้นทางสามเหลี่ยมมรกต : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทางสามเหลี่ยมมรกต ไทย-ลาว-กัมพูชา (3) เส้นทาง 5 เชียง : โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เส้นทาง 5 เชียง (เชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงใหม่ เชียงราย เชียงของ)

1.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 TETRO (JETRO OF THAILAND) เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แผนปฏิบัติการนำร่อง ศึกษาโครงสร้างและการบริหารงานของ JETRO เพื่อจัดตั้ง TETRO

2. ประเด็นพิจารณาที่สำคัญ

2.1 การอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-เมียนมาร์

(1) การพัฒนาช่องทางเข้า-ออกสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ (แม่สอด-เมียวดี) แห่งที่1 เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งและแออัดของการขนถ่ายสินค้าบริเวณสะพานฯ แห่งที่ 1 โดยการซ่อมสะพานดังกล่าวมอบให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณการซ่อมสะพานดังกล่าว เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 และให้เทศบาลนครแม่สอดพิจารณาลงทุนจัดสร้างสถานที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณถนนที่จะเข้าสู่สะพานฯ แห่งที่ 1

(2) การเร่งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 กระทรวงคมนาคมรายงานว่าดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมแล้ว โดยมีงบประมาณดำเนินการอยู่ในแผนปี พ.ศ. 2556-2558 มอบให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งทางถนนต่อไปถึงเมืองกอกะเร็กของเมียนมาร์อย่างเป็นระบบและครบวงจร

(3) การขยายสนามบินแม่สอด มอบให้กรมการบินพลเรือนเร่ง คค. พิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อรองรับการเติบโตด้านการขนส่งและการท่องเที่ยว

2.2 สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการคณะฯ ในการจัดทำแผนแม่บทและการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้ง การพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window คาดว่าเมื่อประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกฉบับ ฯ ดังกล่าวในเร็วๆ นี้ จะสร้างความกระจ่างในการดำเนินการเขตเศรษฐกิจแม่สอด-เมียวดี ที่ล่าช้ามานาน โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งการพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกดังกล่าว

2.3 การส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนไทยย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้า โดยจะสนับสนุนนักลงทุนไทยในอุตสาหกรรม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ฯลฯ ย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชา ทั้งนี้ภาครัฐจะจัดคณะนำนักลงทุนไทยไปสำรวจพื้นที่และเจรจาขอการสนับสนุนจากกัมพูชาในนิคมอุตสาหกรรมโอเนียง และนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2556

2.4 การสนับสนุนการลงทุนด้านแหล่งกระจายสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีโครงการนำร่องในการจัดตั้ง Container Yard ณ ท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างทางรถไฟท่านาแล้ง—เวียงจันทน์ สปป.ลาว ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) กระทรวงการคลัง เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมอบให้ สพพ. กระทรวงการคลังเร่งรัดโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555

2.5 การดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Cross Border Transport Agreement (GMS /CBTA) เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทั้งข้ามแดนและผ่านแดน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศได้ให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารครบทั้ง 20 ฉบับ คงเหลือไทยและเมียนมาร์ที่ลงนามยังไม่สมบูรณ์ จึงให้เร่งรัดกระทรวงคมนาคมและกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ผลักดันการออกกฎหมายที่ค้างอยู่ทั้ง 5 ฉบับ (ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. .... รอเสนอ วุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... รอเสนอวุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ในเรื่องเกี่ยวกับข้อบทว่าด้วยการผ่านแดน) อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ว่าด้วยการอนุตามความตกลง (CBTA) อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารที่เหลือภายใต้ความตกลงฯ ภายในปี พ.ศ. 2556

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ